อาการ ระยะแรกมีท้องผูก แน่นท้อง ท้องอืด และปวดเบ่งบ่อยครั้ง มีถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือมูกเพียง
เล็กน้อย ระยะถัดมา จะมีอาการเป็นบางระยะ เช่น ท้องเสียเรื้อรัง มีแผลในปาก มีเลือดปนออกมากับอุจจาระ เป็นต้น มีน้ำในอุจจาระจำนวนมาก ปวดท้องน้อยบริเวณสะดือเป็นระยะสั้นๆ มีไข้ต่ำ อ่อนเพลีย อาการอื่นที่พบได้คือ ข้ออักเสบ ปวดข้อ เบื่ออาหาร ไม่มีแรง และน้ำหนักลด
อาการขั้นรุนแรงประกอบด้วยคลื่นไส้ อาเจียน ร่างกายขาดน้ำ เหงื่อออกมาก ไข้สูง และใจสั่น
สาเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อโรค เช่น บิดอะมีบา บิดไม่มีตัว ไทฟอยด์ เป็นต้น ส่วนน้อยที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เช่น คาดว่าเกิดจากพันธุกรรม ภูมิคุ้มกันผิดปกติ ความเครีึยด ความกังวล หรือการแพ้อาหารบางชนิด เป็นต้น
การรักษา โรคนี้วินิจฉัยจากประวัติอาการป่วยและการตรวจเลือดในอุจจาระ ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ในบางรายที่มีอาการรุนแรงหรือคาดว่ามีสาเหตุจากการบุกรุกของเชื้อบิดอะมีบา อาจต้องตรวจชิ้นเนื้อฉายเอกซเรย์ กลืนสารทึบแบเรียมแล้วถ่ายเอกซเรย์ หรืออาจใช้กล้องส่องตรวจลำไส้
ผู้ป่วยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
- กลุ่มที่ไม่ต้องใช้ยา ใช้ในรายที่ขาดอาหาร โลหิตจาง จะได้รับอาหารทดแทน โดยการให้วิตามินรับประทานและการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ให้หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารรสจัด เครื่องเทศมาก ในรายที่มีอาการรุนแรง มักต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดเอาลำไส้ส่วนที่เป็นโรคออกไป แล้วนำลำไส้ส่วนดีมาเย็บต่อกัน โดยเฉพาะในกรณีที่มีภาวะลำไส้อุดตันหรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วย การผ่าตัดนี้จะทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่มักไม่หายขาด โรคมักกลับเป็นใหม่ที่บริเวณลำไส้ที่ต่อไว้
- กลุ่มที่ต้องใช้ยารักษา ใช้ในรายที่มีอาการอักเสบ ติดเชื้อ มีไข้สูง มีแผลในลำไส้มาก อาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะที่มีขอบเขตการออกฤทธิ์กว้าง และให้ยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคลำไส้อักเสบ คือ ยาซัลฟาซาลาซีน ขนาด 0.5 มก. วันละ 1 ครั้ง โดยใช้ยาประมาณ 1 ปี จนผู้ป่วยสบายดีจึงหยุดยา แต่ถ้าหยุดแล้วเกิดอาการก็อาจให้ยาต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่มีกำหนด ยากลุ่มสเตียรอยด์อาจให้กรณีผู้ป่วยใช้ยาอื่นไม่ได้ผล ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องปรับเปลี่ยนการกินอยู่เสียใหม่ ลดความเครียด งดบุหรี่ งดสุรา รับประทานอาหารย่อยง่ายด้วย