หากถือตามหลักอายุรวัฒน์แล้วมนุษย์ทุกคนย่อมมีทางเลือกเสมอ อย่างน้อยก็คือเลือกว่าจะอยู่อย่างสุขหรือ
ทุกข์ อย่างกรณีของร่างกายเรามีสิ่งที่เป็น "รหัสชีวิต" อยู่ข้างในได้มาจากพ่อแม่และบรรพบุรุษเป็นตัวกำหนดให้เรามีรูปร่างหน้าตานิสัยใจคอเช่นนี้รวมไปถึงโรคภัยไข้เจ็บและ "ความแก่" ด้วย ตัวที่ช่วยเป็นรหัสชีวิตให้เราเรียกว่า "ยีน" ครับ
ยีนคนเรานี้ได้จากพ่อแม่เป็นหลักครับ สำหรับในเรื่องของความหนุ่มสาวก็จะมียีนอยู่ 2 ประเภทใหญ่ คือ
- กลุ่มยีนหนุ่มสาว (Youth cluster genes)
- กลุ่มยีนอายุยืน (Longevity genes)
ที่ใช้คำว่า "กลุ่มยีน (Gene cluster)" ก็เพราะว่ามีสมาชิกอยู่หลายตัวครับ เช่น ยีนหนุ่มสาวนี้ทางมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมก็ได้เคยถอดรหัสออกมาเมื่อเกือบ 40 ปีมาแล้วด้วยซ้ำว่ามียีนชื่อ "แดฟซิกส์ทีน (DAF 16)" ซึ่งเป็นยีนที่ควบคุมความหนุ่มสาวในรูปแบบหนึ่ง ในปัจจุบันหลังจากมีการทำแผนที่ยีน (Human genomeproject) ก็ยิ่งมียีนใหม่ๆ ถูกค้นพบเยอะขึ้นอย่างมหาศาล เรียกว่า เป็นการพลิกประวัติศาสตร์ยีนอย่างไม่เคยเป็นมาเลยครับ เหมือนกับได้แผนที่จีพีเอสมาแล้วเราสามารถที่จะระบุยีน จุดที่เราสนใจลงไปได้แล้วก็รู้ได้ทันทีว่ายีนนั้นๆ ทำหน้าที่อะไรได้จุดหมายปลายทางดั่งใจ
ถอดรหัส (ยีน) บำบัด "แก่"
ก่อนที่จะถอดรหัสแผนที่ชีวิตออกมาได้ในปี 2000 โรคภัยไข้เจ็บสำคัญๆ ยังเอาชนะมนุษย์ได้อยู่มาก แต่เมื่อรู้ถึงยีนต้นเหตุเข้่าแล้ว ในที่สุดมนุษย์ก็เริ่มคิดที่จะหยุดโรค แล้วต่อมาจนถึงยุคนี้ที่มีวิวัฒนาการมากขึ้นไฮเทคล่าสุดก็คือการ "หยุดความแก่" ครับ พยายามที่จะ "ล็อคอายุ" เอาไว้ด้วยการพุ่งเป้าไปที่ "กลุ่มยีนหนุ่มสาว (Youth cluster gene)" ซึ่งจากการทดลองของสถาบันมะเร็งดานา-ฟาเบอร์มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดพบว่าวิธีหนึ่งคือการยืดหางของยีนออกโดยส่วนหางที่ว่านั้นเรียก "เทโลเมียร์ (Telomere)" และเรียกวิธีการนี้ว่า "เทโลเมียร์บำบัด (Telomere therapy)" คล้ายกับการจัดเรียงยีนใหม่ไม่ให้มันพันกันยุ่งเหยิงจะได้มีการแบ่งตัวของเซลล์ใหม่สดเกิดขึ้นได้เรื่อยๆ
แต่กระนั้น เทคนิคนี้ก็ยังต้องอาศัยการพัฒนาต่อ โดยข้อสรุปที่ออกมาคือเราสามารถยืดสุขภาพยีนของเราออกไปได้โดยวิธีดังต่อไปนี้ครับ
- แอนตี้ออกซิแดนท์ที่ดี จาก "อาหารสด", "อาหารเสริม" โดยเฉพาะอาหารฟังก์ชันนัลและวิตามินที่เป็นซูเปอร์แอนตี้ออกซิแดนท์ จะได้ป้องกัน "สนิมแก่ (Free radical)" ที่จะมาทำลายสายยีนที่พันไขว้กันอย่างวิจิตรของเรา
- ออกกำลังกายให้พอเหมาะ อย่าน้อยไปหรือมากไป การออกกำลังกายจนร่างกาย "ช้ำ" เป็นการซ้ำเติมให้ยีนบาดเจ็บเร็วขึ้น ทำให้ฮอร์โมนแก่ออกมาและเซลล์ร่างกายเสื่อมลงเร็ว
- พักผ่อนให้พอ การนอนให้เต็มที่จะมีโกร๊ทฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อ สร้างเม็ดเลือดใหม่และกระตุ้นให้เซลล์ร่างกายสร้างคลื่นลูกใหม่ช่วยแตกเซลล์รุ่นหนุ่มรุ่นสาวออกมามากขึ้น
- เลี่ยงพิษทำลายดีเอ็นเอ โดยเฉพาะแสงยูวี, ควันบุรหี่และรังสีอันตรายรอบตัว เช่น เอ็กซเรย์, ซีทีสแกน, ใช้ชีวิตอยู่บนเครื่องบินโดยสารนานๆ (รังสีคอสมิก) เพราะจำทำให้ยีนเราบิดเบี้ยวเสียหายกลายเป็นมะเร็งได้
นอกจากยีนแห่งความหนุ่มสาวที่เวชศาสตร์อายุรวัฒน์พุ่งเป้าความสนใจเข้าไป ทำการศึกษาอย่างต่อเนื่องแล้วก็ยังมียีนอื่นที่จำเป็นสำหรับสุขภาพของเราอีกมาก อาทิ บีมอลวัน (BMAL1) เป็นยีนที่เกี่ยวกับน้ำหนักตัว, อะโปอีโฟร์ (ApoE4) เป็นยีนเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ที่สามารถตรวจได้เนิ่นๆ แล้วก็ยังมี อองโคยีน (Oncogene) คือ ยีนมะเร็ง และวอริเออร์ยีน (Warrior gene) ที่เป็นยีนนักรบพบมากในคนที่โผงผางอารมณ์รุนแรง หรือศาสตร์ล่าสุดเรื่องยีนอย่างเอพิเจเนติกส์ (Epigenetics), โำชนพันธุศาตร์ (Nutrigenomics) เป็นต้น
แต่กระนั้นยีนก็ยังไม่อาจแซงมนุษย์ได้ในแง่การดูแลสุขภาพครับ เพราะถ้าพูดกันแฟร์ๆ แมนๆ การดูแลสุขภาพด้วยตัวเรามีส่วนถึง 50% ส่วนจากยีนก็มี 50% เช่นกัน (By birth 50% and by raise 50%) ถือว่ายุติธรรมดีที่สุดนะครับ เพราะเราไม่ต้องหยุดอยู่กับยีนที่มีแต่สามารถทำให้มันดีได้ด้วยมือเรา