จิตบำบัด จิตบำบัดเป็นการรักษาทางจิตชนิดหนึ่ง ด้วยการพูดคุยกับผู้ป่วยโดยผู้บำบัดวิเคราะห์สภาพปัญหา
หาสาเหตุของปัญหาและร่วมกันในการแก้ไขสิ่งที่เป็นปัญหา หรือความทุกข์ ความคับข้องใจของผู้ป่วย ส่วนวิธีการทำจิตบำบัด โดยทั่วไปมี 2 วิธี คือ
1. จิตบำบัดระดับลึก (Genetic-dynamic Therapy / Deep Psycho-therapy) เป็นการทำจิตบำบัดในเชิงลึก เน้นการเปลี่ยนบุคลิกภาพระยะยาวในผู้ป่วยโดยการสืบค้นปัญหา ความคับข้องใจ ความวิตกกังวล ในจิตใต้สำนึก (preconscious) และจิตไร้สำนึก (unconscious) ของผู้ป่วยซึ่งกดเก็บไว้ การทำจิตบำบัดมี 2 แบบคือ
1) จิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ตามแนวคิดของซิกมันด์ ฟรอยด์ ซึ่งใช้วิธีการ
- Free-association เน้นการปล่อยให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกอิสระสบาย และผ่อนคลาย เพื่อให้ผู้ป่วยเล่าเหตุการณ์ที่เป็นปัญหา และความทุกข์ออกมา
- Dream interpretation เน้นการให้ผู้ป่วยเล่าความฝัน และผู้รักษาดีความจากความฝัน
- Transference เน้นการโอนถ่ายความรู้สึกไปยังบุคคลอื่น
2) จิตบำบัดแบบ Distributive-Synthesis ตามแนวคิดของ Adof Meyer วิธีการนี้ Adof Meyer เน้นวิธีการให้ผู้ป่วยเล่าประสบการณ์ในอดีต และผู้รักษาวิเคราะห์สถานการณ์ และสาเหตุ และร่วมกันหาทางแก้ไขต่อไป
2. จิตบำบัดระดับต้น (Superficial Psychotherapy) เน้นการบำบัดเบื้องต้น 3 ลักษณะ คือ
- จิตบำบัดแบบประคับประคอง (Supportive psychotherapy) เน้นการพูดคุยและบำบัดช่วยเหลือประคับประคองเบื้องต้น
- จิตบำบัดเน้นการระบายปัญหา (Superficial expressive psycho-therapy) เน้นการระบายปัญหา ความทุกข์ ความคับข้องใจ
- จิตบำบัดเน้นการกดเก็บ (Suppressive psychotherapy) เน้นการให้ข้อเสนอแนะ เพื่อลดภาวะเครียด ความวิตกกังวล และปัญหาที่ไม่ลึก
ลักษณะของการทำจิตบำบัด ลักษณะของการทำจิตบำบัด แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
- จิตบำบัดรายบุคคล
- จิตบำบัดกลุ่ม
จิตบำบัดรายบุคคล (Individual Psychotherapy) ความหมาย จิตบำบัดรายบุคคล เป็นการรักษาทางจิตชนิดหนึ่ง ด้วยการที่ผู้บำบัดรักษาพูดคุยกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคล ผู้บำบัดรักษา วิเคราะห์สภาพปัญหา หาสาเหตุของปัญหาและร่วมกันในการแก้ไขสิ่งที่เป็นปัญหา หรือความทุกข์ ความคับข้องใจของผู้ป่วย โดยผู้บำบัดใช้ทฤษฎี หลายทฤษฎี เช่น
- ทฤษฏีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) เช่น Free-association, Dream interpretation, Transference
- ทฤษฎีกลุ่มมนุษยนิยม (Humanistic) เช่น Client-centered, Existen-tialism, Gestalt Therapy, Reality Therapy, Rational emotive Therapy
- ทฤษฎีกลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) การใช้การเสริมแรง การลงโทษ และการใช้แบบอย่าง
กระบวนการในการทำจิตบำบัดรายบุคคล กระบวนการในการทำจิตบำบัดรายบุคคล เน้น 3 ระยะดังนี้
ระยะแรก เน้นการสร้างสัมพันธภาพ การรับฟังปัญหา การแสดงความเห็นใจและรับความรู้สึก
ระยะที่ 2 เป็นระยะการโอนถ่ายความรู้สึกสู่ผู้รักษา พัฒนาการตระหนักรู้ในปัญหา การสนับสนุน ประคับประคอง การตีความ การสอน การให้กำลังใจ การจัดการกับสิ่งแวดล้อม
ระยะสิ้นสุด เป็นการเตรียมสิ้นสุดสัมพันธภาพ
องค์ประกอบที่สำคัญของการทำจิตบำบัด การทำจิตบำบัดที่มีประสิทธิภาพควรพิจารณาถึงหลักการต่อไปนี้
- ความรู้ความสามารถของผู้บำบัด ต้องผ่านการเรียนและฝึกฝนด้านการทำจิตบำบัดมาโดยตรง
- บุคลิกภาพและนิสัยของผู้บำบัด ต้องมีความพร้อม มีความรู้ ความเข้าใจ ยอมรับ และพัฒนาตนเอง ในการทำจิตบำบัดเป็นอย่างดี
- ผู้บำบัดและผู้รับการบำบัด มีแรงจูงใจ ในการทำจิตบำบัด เชื่อและศรัทธาในตนเองและผู้บำบัด
- มีความสามารถในการพูด ถ่ายเทความรู้สึก
จิตบำบัดกลุ่ม (Group Psychotherapy) ความหมายและความเป็นมาจิตบำบัดกลุ่ม หรือ Group Psychotherapy เป็นการบำบัดทางจิตชนิดหนึ่งในผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรม ด้วยการใช้กระบวนการของกลุ่มที่มีการวางแผน โดยบุคลากรวิชาชีพเฉพาะทางที่ได้รับการศึกษาอบรมมาโดยเฉพาะ มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เข้ากลุ่มรู้จักตนเอง เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น ยอมรับตนเองและผู้อื่นได้ ตลอดจนสามารถปรับเปลี่ยนความคิด เจตคติ และพฤติกรรม อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
ลักษณะของกลุ่ม เป็นการจัดให้ผู้ป่วยมารวมกลุ่มกัน โดยมีผู้บำบัดและบุคคลากรวิชาชีพเข้าร่วมกลุ่มด้วย กระบวนการกลุ่มเน้นการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การให้ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเจตคติ และการแก้ปัญหาที่บกพร่องของผู้ป่วยในกลุ่ม หัวใจหลักของกลุ่มจิตบำบัดก็คือ การให้ผู้ป่วยช่วยกันเองในกลุ่ม ได้มีการใช้กระบวนการกลุ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1905 โดย Dr. J. Pratt นำมาใช้ในกลุ่มของผู้ป่วยวัณโรค โดยการสอนการปฏิบัติตัวและการปฏิบัติงาน
ปี ค.ศ. 1914 Moreno ได้ใช้กลุ่มบำบัดทางจิตใจในเด็กจรจัดและหญิงโสเภณี และต่อมาได้ใช้จิตบำบัดโดยเน้นการนำผู้ป่วยมานั่งสนทนากัน ระบายอารมณ์และความรู้สึกร่วมกัน
ปี ค.ศ. 1920 Trigent Burrow นำวิธีการจิตวิเคราะห์มาใช้บำบัดในผู้ป่วยจิตเภท เรียกว่า กลุ่มวิเคราะห์จิต โดยเน้นการแนะนำวิธีปฏิบัติไปด้วย
ปี ค.ศ. 1931 Moreno ได้บัญญัติศัพท์กลุ่มบำบัด (Group Therapy) ขึ้นใช้และต่อมาได้เปลี่ยนเป็น Group Psychotherapy ในปี ค.ศ. 1932 เป็นการเริ่มจิตบำบัดกลุ่มอย่างแท้จริง
ปี ค.ศ. 1947 Slavson ได้จักกลุ่มจิตบำบัดโดยเน้นการสร้างสัมพันธภาพพูดคุย ถกเถียง และให้ข้อเสนอแนะ
ความสำคัญของจิตบำบัดกลุ่ม
มนุษย์เราส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสังคม ต้องมีสัมพันธภาพกับบุคคลในสังคม บุคลิกภาพของมนุษย์นั้นย่อมถูกเสริมสร้างขึ้นโดยกลุ่มชนนั้นๆ ความสุขสบายใจมั่นคงและช่วยกันพัฒนาเสริมสร้างกลุ่มชนนั้น แต่มีบุคคลเป็นจำนวนมากที่ขาดความอบอุ่น ขาดความสุข มีความทุกข์ทรมาน ฉะนั้นการบำบัดแบบ Group Psychotherapy ที่เน้นการสอนและฝึกหัดผู้ที่ไม่มีความสุขในกลุ่มบุคคลต่างๆ ให้ได้รับประสบการณ์ให้รู้จักการปรับตัวให้เข้าสิ่งแวดล้อม และหาวิธีการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ความทุกข์นั้นหมดไป
วัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกลุ่ม
- สร้างความเชื่อมั่น ไว้วางใจซึ่่งกันและกัน
- ผ่อนคลายความเครียด
- แก้ไขความคับข้องใจและอุปสรรคในใจของผู้ป่วยในกลุ่ม ซึ่งจะมีส่วนในการร่วมความทุกข์ซึ่งกันและกัน
- รู้จักใช้กลไกทางของจิตที่ถูกต้องและเหมาะสม
- รู้จักการควบคุมอารมณ์ การแสดงออกพฤติกรรมที่เหมาะสม
- รู้จักสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกันในกลุ่ม
- เพิ่มพูนความภาคภูมิใจในตนเอง
- พัฒนาความเข้าใจตนเองให้ถูกต้อง
ชนิดของจิตบำบัดกลุ่ม
ชนิดของจิตบำบัดกลุ่ม มีหลายชนิด แต่พอจะแบ่งย่อๆ ได้ 5 ชนิด ดังนี้
1. Didactic group การทำกลุ่มลักษณะนี้ต้องอาศัยความรู้เป็นหลัก ผู้รักษาในกลุ่ม มีหลักพึงระลึกว่า จะต้องนำเรื่องราวต่างๆ มาพูดและชี้แนะผู้ป่วย การบำบัดแบบนี้จำเป็นต้องอาศัยเชาวน์ปัญญาของผู้ป่วย เพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหาต่างๆ ทางอารมณ์ของตน และสาเหตุการเกิดปัญหานั้นๆ จึงจะสามารถจะเข้าถึงปัญหาต่างๆ ทางอารมณ์ของผู้ป่วยได้เร็วขึ้น การรักษาแบบนี้เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชที่มีอาการดีขึ้นพอควร
2. Therapeutic social วิธีการแบบนี้ทำได้โดยที่ผู้ป่วยเลือกผู้แทนของตนขึ้นมา แล้วผู้แทนเหล่านี้มีส่วนช่วยในการที่จะบริหารกิจกรรมต่างๆ ในกลุ่มนั้นๆ ผู้รักษาเป็นเพียงมีส่วนช่วยให้การปรึกษาและเลือกสมาชิกในกลุ่มให้ ความมุ่งหมายในการทำแบบนี้ก็เพื่อจะต้องกำจัดความเคยชิน และความเฉื่อยชาอันมีอยู่ในตัวผู้ป่วยก่อนเข้ามาในโรงพยาบาล ซึ่งส่วนมากไม่มีความกระตือรือร้น ไม่รู้จักตนเอง แยกตัวเอง และไม่มีความภาคภูมิใจในตัวเอง วิธีนี้เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่ได้จำหน่ายออกจากโรงพยาบาลแล้ว
3. Repreessive interaction group วิธีนี้ได้แก่ การพบปะสนทนากันและทำกิจกรรมร่วมในสิ่งที่มีประโยชน์ เช่น การออกกำลังกายร่วมกัน การรวมกลุ่มกันร้องเพลง รวมกลุ่มกันทำงาน แบบนี้ใช้ได้ทั้งโรคจิต โรคประสาท ติดเหล้า และผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาล
4. Free-interaction group อาจเรียกว่า group-centered คือ การพูดคุยแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างจริงใจทำให้เกิดความเข้าใจตนเองและผู้อื่น
5. Psychodrama (ละครจิตบำบัด) หมายถึง กลุ่มที่ให้ผู้ป่วยแสดงละครโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ป่วยได้ระบายอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และปัญหาออกมาในรูปของการแสดง เพื่อสะท้อนให้ผู้ป่วยที่ร่วมแสดงและมีส่วนร่วมทุกคน เข้าใจปัญหา สภาพการณ์ และพฤติกรรมของตนเองได้ดีขึ้น
ลักษณะของกลุ่มจิตบำบัดที่ดี
- จำนวนผู้ป่วยประมาณ 8-10 คน
- ไม่เป็นโรคหรือมีอาการที่อยู่ในระยะรุนแรง
- ทุกคนต้องยอมรับและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของกลุ่มได้
- มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันและกัน
- ความแตกต่างในเรื่องเพศได้ แต่วัยไม่ควรแตกต่างกันมากนัก
- ผู้รักษามีความชำนาญ
หลักการทำจิตบำบัดกลุ่ม
- ผู้บำบัด 2 คน ได้แก่ ผู้บำบัด และผู้ช่วย
- เวลาที่ใช้แต่ละครั้งประมาณ 60-90 นาที สัปดาห์ละครั้ง
- จัดกลุ่มเป็นวงกลม ผู้รักษาและผู้ช่วยนั่งทำมุม 90-180 ต่อกัน
- เน้นการตระหนักรู้ในตนเอง
- เน้นให้ผู้ป่วยต้องพูดกับกลุ่ม หลีกเลี่ยงการพูดหรือตอบคำถามกับผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ
การดำเนินกลุ่มแต่ละครั้ง แบ่งเป็น 3 ระยะ
1. ระยะเริ่มต้นกลุ่ม ประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้
- อุ่นเครื่อง
- ทำความรู้จักซึ่งกันและกัน
- ทำความเข้าใจวัตถุประสงค์ กฎเกณฑ์ กติการการเข้ากลุ่ม
- เวลาที่ใช้ 1/6 ของเวลาทั้งหมด
2. ระยะดำเนินกลุ่ม ประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้
- นำปัญหาเข้าสู่ความสนใจของกลุ่ม
- เป็นปัญหาในปัจจุบันหรือปัญหาที่เกิดเมื่อเร็วๆ นี้
- กลุ่มไต่ถามหารายละเอียดของปัญหา
- กลุ่มวิจารณ์ให้ข้อเสนอแนะ
- นำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกลุ่มมาพิจารณาและแก้ไข
- เวลาที่ใช้ 4/6 ของเวลาทั้งหมด
3. ระยะสรุป ประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้
- สรุปปัญหาและข้อเสนอแนะ
- สรุปการเรียนรู้กันในกลุ่ม
- การวางแผนสำหรับการทำกลุ่มในคราวต่อไป (ถ้ามี)
- เวลาที่ใช้ 1/6 ของเวลาทั้งหมด
บทบาทของผู้บำบัด ประกอบด้วย
- ผู้เริ่มต้น ลงท้าย และสรุป
- ควบคุมให้กลุ่มดำเนินไปตามวัตถุประสงค์
- คอยกระตุ้นถ้ากลุ่มช้า
- คอยหน่วงเหี่ยวถ้ากลุ่มเร็วไป เพราะผู้ป่วยบางรายอาจตามกลุ่มไม่ทัน
- สร้างบรรยากาศอย่าให้เครียดหรือเงียบเหงาเกินไป
- สังเกต รับรู้ และเข้าใจทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในกลุ่ม
- ทำเรื่องที่คุยกันให้ง่าย ปะติดปะต่อได้เนื้อหาสาระ
- ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในกลุ่ม
- เป็นผู้รักษาเวลา กฎเกณฑ์ในกลุ่ม
- เป็นกัปตันหรือผู้ถือหางเสือเรือ
บทบาทของผู้ช่วยกลุ่ม
- ช่วยให้ผู้บำบัดดำเนินการทำกลุ่มไปอย่างสมบูรณ์
- เป็นหูเป็นตาและเป็นปากให้ผู้บำบัดในบางครั้ง
- เป็นตัวกลางระหว่างผู้บำบัด กับผู้ป่วย
- ทำหน้าที่แทนเมื่อผู้บำบัดไม่อยู่
- ต้องรู้ใจซึ่งกันและกันระหว่างผู้บำบัดและผู้ช่วย
คุณสมบัติของผู้บำบัด
1) มีความรู้พื้นฐานทางจิตเวช
2) มีเจตคติที่ดีต่อผู้รับบริการ
3) มีความรับผิดชอบในงานสุขภาพจิต
4) มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช และการบำบัดทางจิตพอสมควร มีความคิดความรู้ด้านจิตใจที่ดีซึ่งได้แก่
- ความไวในการรับความรู้สึก และตระหนักรู้ (Sensitiveness & Awareness)
- ความเข้าใจตนเอง (Understanding)
- ความรู้สึกร่วม (Empathy)
องค์ประกอบ 7 ประการ เพื่อการทำจิตบำบัดกลุ่มประสบผลสำเร็จ ทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นจากการรักษาด้วยกลุ่มจิตบำบัดในช่วงสั้น (3-4 สัปดาห์) ซึ่งในปัจจุบันนี้ระยะเวลาในการรักษาจิตบำบัดมักใช้แบบช่วงสั้น จะดำเนินการโดยเน้นหลักการดังนี้
1. ทุกคนมีสิทธิที่จะป่วยได้เหมือนๆ กัน (Universalization)
2. การได้ระบาย (Expression)
3. การเข้าใจตนเอง (Self Understanding)
4. การรับผิดชอบตนเอง (Self Responsibility)
5. สร้างความหวัง (Instillation of Hope)
6. การเห็นประโยชน์ของผู้อื่น (Altruism)
7. มีความสามัคคีของกลุ่ม (Group Cohesiveness)
นอกจากนี้แล้วยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการทำจิตบำบัด คือ
Acceptance ความรู้สึกว่าเป็นที่ยอมรับของสมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่ม สามารถทนต่อความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันได้ ทำให้ลดการตำหนิตนเองลง
Abreaction เป็นกระบวนการที่ทำให้สิ่งที่ถูกกดเก็บไว้ (Repressed) โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์หรือปมที่ปวดร้าว ถูกนำกลับขึ้นมาสู่จิตสำนึกอีกครั้ง ในกระบวนการนี้ ผุ้ป่วยไม่เพียงแต่ระลึกถึงเหตุการณ์ได้เท่านั้น แต่เสมือนหนึ่งเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง (Relive) ร่วมไปกับมีอารมณ์ตอบสนอง ผู้ป่วยมักเกิด Insight จากประสบการณ์ Abreaction นี้
Contagion เป็นลักษณะที่การแสดงออกทางอารมณ์ของคนหนึ่งไปกระตุ้นให้คนอื่นคนหนึ่งตระหนักรู้ว่า ตนเองก็มีอารมณ์เดียวกัน
Consensual Validation เป็นศัพท์ที่ใช้โดย Harry Stack Sullivan หมายถึง การย้ำความจริง (Confirm Reality) โดยเปรียบเทียบแนวความคิดของตนเอง กับสมาชิกคนอื่นๆ
Corrective Familial Experience ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติการผ่านปมขัดแย้งต่างๆ ในครอบครัว โดยการมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่ม
Identification เป็นกลไกทางจิตไร้สำนึกที่คนๆ หนึ่งเข้าไปถึงลักษณะของอีกคนหนึ่งโดยเข้าไปในส่วนของระบบความเป็นตน (Ego System) ของบุคคลและเลียนแบบ
Imitation (Role Modeling) ในกลุ่มผู้ป่วยสามารถเลียนแบบพฤติกรรมอย่างมีสติจากผู้ป่วยด้วยกันเองหรือจากผู้รักษา
Insight เป็นการเข้าใจและตระหนักรู้ในจิตสำนึกถึงกลไกทางจิต (Psychodynamics) และอาการที่เกิดจากพฤติกรรมการปรับตัวที่ล้มเหลว (Maladaptive Behavior) ของตนเอง มี 2 ชนิด คือ การตระหนักรู้ทางปัญญา (Intellectual Insight) เป็นการตระหนักรู้ที่เน้นความรู้ความเข้าใจโดยไม่เน้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ที่ถูกวางเงื่อนไขมาอย่างผิดๆ และการหยั่งรู้ทางอารมณ์ (Emotional Insight) นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของพฤติกรรมหรือบุคลิกภาพ
Interaction เป็นการเปิดกว้างให้แลกเปลี่ยนความคิด ความรู้สึกกันในกลุ่ม
Interpretation ผู้ป่วยจะได้รับการพัฒนากรอบแนวการคิดที่จะนำไปสู่ความเข้าใจพฤติกรรมของตนเองในระหว่างที่ผู้รักษาแปลความหมาย Defenses, Resistance and Symbols ของผู้ป่วย
Transference เป็นการถ่ายโอนความรู้สึกนึกคิด แรงปรารถนา จาก Object ในอดีตของผู้ป่วยไปยังผู้รักษาในกลุ่มบำบัด Patients อาจเกิด Transference ระหว่างสมาชิกกลุ่มกันเอง หลายๆ คู่ เรียกว่า Multiple Transference
Ventilation (self-disclosure) เป็นการแสดงออกของความรู้สึก ความคิด หรือเหตุการณ์ต่างที่ suppressed ไว้ การแบ่งปันความลับส่วนตัวกับผู้อื่นสามารถช่วยให้ความรู้สึกผิดบาปน้อยลงได้
Interpersonal Learning การเรียนรู้วิธีที่จะติดต่อและสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น โดยอาศัยกลุ่มเป็นที่ฝึกซ้อม กลุ่มเปรียบเสมือนสังคมจำลอง (Social Microcosm) ถ้าให้เวลานานพอ ผู้ป่วยจะแสดงพฤติกรรมในกลุ่ม เช่นเดียวกับที่เขาแสดงในสังคมที่เขาอยู่ด้วย พฤติกรรมที่ผู้ป่วยมีต่อผู้อื่นอย่างไม่ถูกต้อง (Interpersonal Maladaptive Behavior) ก็จะปรากฎออกมาในกลุ่มให้เห็นได้ชัดเจนกว่า การทำจิตบำบัดรายบุคคล ผู้ป่วยได้เรียนรู้พฤติกรรมชนิดไหนของตนที่ทำให้ผู้อื่นต้องผละหนีหรือถอยห่าง พฤติกรรมแบบไหนที่ทำให้ผู้อื่นอยากใกล้ชิดมากขึ้น ผู้ป่วยยังได้เรียนรู้ผ่านการ feed back ของเพื่อนสนิทในกลุ่มด้วยว่า มีพฤติกรรมที่บ่อนทำลายตัวเองหรือทำให้ตนเองเป็นฝ่ายเสียประโยชน์โดยไม่ไดตระหนักถึงอย่างไรบ้าง