อาการ คือ ความสามารถในการรับฟังเสียงลดลง หูตึงเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาทิเช่น ปัญหาจากหูชั้น
นอกและหูชั้นกลาง อย่างเช่น เกิดจากเป็นโรคหูน้ำหนวก หูชั้นกลางอักเสบ ขี้หูอุดตัน กระดูกภายในหูคือ กระดูกค้อน ทั่ง โกลน มีหินปูนมาเกาะหรือแยกหลุดออกจากกัน ท่อยูสเตเชียนในหูชั้นกลางเกิดการอุดตัน และเยื่อแก้วหูทะลุ เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถให้ยาหรือผ่าตัดรักษาได้
อาการหูตึงอย่างเฉียบพลัน โดยมากมักเป็นข้างเดียว จะมีอาการหูอื้อทันที เกิดได้จากการติดเชื้อไวรัส หลอดเลือดแตก หรือเยื่อหูชั้นในชำรุดหรือแตก เป็นอาการฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันทีเพื่อไม่ให้เกิดอาการหูตึงถาวร
หูตึงจากเนื้องอกในสมอง เริ่มแรกหูจะริ่มตึงอย่างช้าๆ มีเสียงรบกวนในหู และมีอาการเดินเซตามมา เป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว
หูตึงจากโรคทางกายที่อาจมีอาการรุนแรงจนเข้าไปทำลายระบบหูชั้นใน และทำให้เกิดหูตึง เสียการทรงตัวขึ้นได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคไตวาย โรคคอหอยพอก หรือ ไธรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น การป้องกันคือ ควบคุมโรคเหล่านั้นให้ได้
อาการหูตึงยังอาจเกิดขึ้นได้จากปัญหาที่หูชั้นใน เช่น การติดเชื้อ โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นต้น ซึ่งมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน มึนงง หรือมีเสียงดันในหู อาการหูตึงในลักษณะนี้ บางชนิดสามารถรักษาได้โดยการทานยา บางชนิดรักษาได้โดยวิธีการผ่าตัด
อาการหูตึงอาจเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อย ส่วนใหญ่เกิดจากการทำงานในที่มีเสียงดังอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ผู้สูงอายุก็มักจะมีอาการหูตึงแบบค่อยเป็นค่อยไปเช่นกัน โดยเกิดจากประสาทหูเสื่อม ลักษณะนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถใช้อุปกรณ์ช่วยฟังได้ในช่วงที่ประสาทถูกทำลายไปไม่มาก และในคนที่เกิดจากประสาทหูพิการ หากมีอาการไม่มากและเริ่มมีอาการไม่เกิน 1 เดือน อาจรักษาได้ด้วยการทานยา ส่วนคนที่ประสาทหูพิการรุนแรง ที่เรียกว่าหูหนวก หรือเกือบหนวก การใส่เครื่องช่วยฟังมักไม่ได้ผล จำเป็นต้องใช้การรักษาแนวใหม่คือ การฝังประสาทหูเทียมเข้าไปในหูชั้นใน จะทำให้ผู้ป่วยเหล่านั้นมีโอกาสกลับมาได้ยิน
สาเหตุของหูตึงในเด็กส่วนมากเกิดจากมารดาติดเชื้อหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ เด็กที่หูตึงมาแต่กำเนิด ส่วนมากจะสูญเสียการได้ยินในระดับรุนแรง คือ ต้องใช้เสียงดังมาก หรือตะโกนจึงจะได้ยินบ้าง ถ้าสงสัยว่าลูกมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที ปัจจุบันมีการตรวจการได้ยินในเด็กเล็ก และสามารถใส่เครื่องช่วยฟังได้ตั้งแต่แรกเกิด
การใส่เครื่องช่วยฟัง ซึ่งเป็นเครื่องขยายเสียงขนาดเล็กใช้สอดใส่เข้าไปในรูหู หรือวางทับหลังหู ปัจจุบันมีเครื่องช่วยฟังหลายแบบ ตั้งแต่ขนาดเล็กที่ซ่อนในช่องหูได้อย่างแนบเนียน แบบมีโปรแกรมแยกหลายช่องการทำงาน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการรับฟังเสียงได้ดีกว่าเครื่องในรุ่นก่อนๆ มาก ก่อนใช้เครื่องช่วยฟัง ควรพาผู้ป่วยไปตรวจวัดระดับการได้ยินก่อนว่าหูตึงมากน้อยเพียงใด
การรักษาหูตึงด้วยประสาทหูเทียม
ประสาทหูเทียมเป็นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ทำหน้าที่รับสัญญาณเสียงแทนอวัยวะรับเสียง และเปลี่ยนสัญญาณเสียงเป็นสัญญาณไฟฟ้าไปกระตุ้นประสาทรับเสียงเพื่อส่งต่อไปยังสมอง ทำให้ผู้ป่วยได้ยินเสียงได้ ประสาทหูเทียมประกอบด้วยขั้วไฟฟ้าเล็กๆ ซึ่งต้องผ่าตัดฝังเข้าไปในกระดูกก้นหอยของหูชั้นในที่เรียกว่า คอเคลีย (cochlea) มีขดลวดต่อกับอุปกรณ์รับสัญญาณซึ่งถูกฝังไว้ใต้ผิวหนังหลังหู และมีชิ้นส่วนที่อยู่ภายนอกร่างกายประกอบด้วยไมโครโฟน อุปกรณ์ส่งสัญญาณและอุปกรณ์เปลี่ยนสัญญาณเสียงเป็นสัญญาณไฟฟ้า
ผู้ป่วยที่ประสาทหูพิการอย่างรุนแรง หรือหูหนวกที่แม้จะใส่่เครื่องช่วยฟังก็ไม่ช่วยให้การได้ยินดีขึ้นได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมมีที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ และผู้ป่วยเด็กสามารถพัฒนาการเรียนรู้ได้ดีขึ้นอย่างมาก สามารถเรียนในโรงเรียนปกติได้ แต่เนื่องจากราคาตัวเครื่องประสาทหูเทียมมีราคาสูงมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดรักษาได้