อาการ อักเสบ เจ็บปวดร้อนนิ้วมือ และอาจบวม นานเข้าจะเกิดอาการติดล็อกได้ นิ้วที่เป็นบ่อย ได้แก่ นิ้วนาง
นิ้วกลาง และนิ้วหัวแม่มือ โดยที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกนิ้วที่มีการใช้งานมาก
1. ระยะแรก มีอาการปวดเป็นอาการหลัก บริเวณโคนนิ้วมือ และปวดมากขึ้นเมื่อเอานิ้วกดบริเวณฐานนิ้วมือด้านหน้า แต่ยังไม่มีอาการติดสะดุด
2. ระยะที่ 2 มีอาการสะดุดนิ้วเวลาขยับนิ้วเป็นอาการหลัก และเจ็บปวดมากขึ้นด้วย
3. ระยะที่ 3 มีอาการติดล็อกเป็นอาการหลัก ไม่สามารถเหยียดนิ้วออกเองได้ ต้องเอามืออีกข้างมาช่วยแกะ
4. ระยะที่ 4 มีการอักเสบบวมมาก และเจ็บปวดมาก นิ้วบวมจะติดอยู่ในท่างอเล็กน้อย ไม่สามารถเหยียดให้ตรงได้ ถ้าใช้มือมาช่วยเหยียดจะปวดมาก
สาเหตุ เกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นที่ใช้ในการงอข้อนิ้วมือบ่อยๆ ทำให้เส้นเอ็นหนาตัวขึ้น จากการใช้มือทำงานในท่ากำมืออย่างแรงซ้ำๆ บ่อยๆ หรือเกิดจากบีบกำมือแรงๆ เช่น ใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ การใช้นิ้วหิ้วของหนักๆ ซ้ำๆ หรือต่อเนื่องนาน เป็นต้น สุดท้ายเมื่อเส้นเอ็นหนาตัวขึ้น ทำให้มีอาการเจ็บบริเวณเส้นเอ็น และเมื่อขยับเส้นเอ็นที่บวมจะลอดผ่านห่วงรอกนี้ได้ลำบาก ทำให้เกิดอาการนิ้วล็อก
กลุ่มเสี่ยง
1. ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย 3-4 เท่า ส่วนใหญ่อายุ 45 ปีขึ้นไป อย่างเช่น แม่บ้าน ที่ใช้มือทำงานหนัก เช่น หิ้วถุงพลาสติกหนัก การบิดผ้า เป็นต้น
2. ผู้มีหน้าที่ต้องพิมพ์ดีดบ่อยๆ
3. ผู้ที่มีงานอดิเรกที่ต้องใช้นิ้วบ่อยๆ เช่น การถักนิตติ้ง การถักครอสติช เป็นต้น
4. ผู้ชอบเล่นกอล์ฟ ซึ่งพบบ่อยในคนที่ตีกอล์ฟรุนแรง
5. เทนนิส ซึ่งต้องกำมือต่อเนื่องเป็นเวลานาน
6. ในผู้ชาย มักจะพบในอาชีพที่ต้องใช้มือทำงานหนัก เช่น คนทำสวนใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ ใช้จอบเสียม มีดฟันต้นไม้ เป็นต้น
7. ในเด็กเล็ก เด็กโต พบว่าเป็นกันมากเช่นกัน
เมื่อมีพังผืดที่หนาตัวไปรัดเส้นประสาท อาหารหล่อเลี้ยงที่มากับเส้นเลือดแดงก็จะขาดหายไป เพราะเลือดไม่สามารถวิ่งผ่านในจุดที่ถูกกดทับได้อาหารหล่อเลี้ยงเริ่มขาดหาย ทำให้เซลล์ประสาทค่อยๆ เสื่อมถอยลง หากไม่ได้รับการรักษา นิ้วข้างเคียงก็จะยึดติดแข็ง และอาจลีบ เล็ก ใช้งานไม่ได้ ยิ่งเพิ่มความเจ็บปวดและเศร้าทุกครั้งที่ใช้มือที่เปรียบเสมือนมือพิการ
การรักษา แพทย์ตรวจวินิจฉัยได้ง่ายด้วยอาการทางคลินิก การเป็นในระยะแรก มีอาการไม่มาก การรักษาประกอบด้วย พักการใช้งานรุนแรง อาจต้องพักใช้มือนานหลายวันจึงค่อยทุเลา ช่วงนี้ควรแช่มือในน้ำอุ่น หรือประคบน้ำแข็ง ช่วงนี้ทานยาแก้อักเสบในกลุ่ม NSAID เพื่อลดการอักเสบของเส้นเอ็นและลดอาการปวด ลดบวม ตัวยาเช่น ไดโคลฟีแนก ไอบูโพรเฟน อินโดเมทาซิน นาโพรเซน การทานยาควรทำร่วมกับการพักใช้มือและทำกายภาพบำบัด การทานยากลุ่มนี้ต่อเนื่องนานๆ มีผลเสียต่อระบบเลือด ทำให้เม็ดเลือดขาวน้อยลง ทำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหารได้
เมื่อโรคเข้าสู่ระยะที่ 2, 3, 4 จึงควรหันมาใช้วิธีฉีดยาสเตียรอยด์ ตรงตำแหน่งที่เกิดการอักเสบ คือ บริเวณเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่อักเสบ มีประสิทธิภาพดี อาการจะดีขึ้นในเวลา 2-3 วันหลังจากฉีดยา ไม่ควรฉีดยามากกว่า 3 ครั้งต่อปี อาจทำให้เส้นเอ็นขาดได้ นอกจากนี้ยังมีการผ่าตัดด้วยการเจาะผ่านผิวหนัง ซึ่งมีแพทย์น้อยรายที่ทำได้ในเมืองไทย เป็นวิธีที่สะดวก ง่ายและประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถทำในแผนกผู้ป่วยนอกได้ทันที เจ็บตัวน้อยมาก ไม่มีแผลเป็น หายเร็ว ไม่ต้องเปิดแผล ดังในภาพ
ผ่าตัดโดยเจาะผ่านผิวหนัง ไม่ต้องเปิดแผล วิธีนี้ต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ ในโรงพยาบาลหลายแห่งไม่ใช้วิธีนี้ในการรักษา เพราะเสี่ยงต่อการเขี่ยไปโดนเส้นประสาท