อาการ ปวดเค้นหน้าอก บริเวณกลางกระดูกหน้าอก บริเวณเหนือลิ้นปี่เล็กน้อย ปวดเหมือนถูกบีบรัด
หรือของหนักทับหน้าอก ปวดร้าวไปที่ไหล่และแขนซ้าย หรือไปถึงฟันกราม อาการปวดเป็นอยู่นานนับนาทีหรือหลายนาที มักเป็นตอนที่มีความตื่นเต้น โกรธจัด หรือขณะออกกำลังใช้แรงมาก ซึ่งจะขาดเลือดไปเลี้ยงหัวใจ เมื่อหยุดพักอาการปวดทุเลาลง อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบาก เหงื่อออกมาก
กลุ่มเสี่ยง
- เพศชาย หรือเพศหญิงในวัยหมดประจำเดือน
- ประวัติครอบครัวมีโรคนี้
- ความดันโลหิตสูง
- เบาหวาน
- ไขมันในเลือดสูง มีไขมันโคเลสเตอรอลชนิดดีในปริมาณที่ต่ำ
- การสูบบุหรี่
- ขาดการออกกำลังกาย
- อารมณ์แปรปรวน โกรธ โมโหง่าย เครียดเป็นประจำ
การรักษา แพทย์ตรวจร่างกาย ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ในขณะออกกำลังกาย เพราะเวลาที่ไม่แสดงอาการจะตรวจพบว่า EKG มีค่าปกติ ดังนั้นแพทย์จะแนะนำให้ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังเพิ่มเติม เรียกว่า 'Exercise Stress Test' จากนั้นแพทย์จะนำข้อมูลต่างๆ เหล่านี้มาวิเคราะห์ดูว่ามีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมากน้อยเพียงใด
อาจมีการเอกซเรย์ การตรวจเลือดด้วย เมื่อใช้ยารักษายังไม่ได้ผลดีแพทย์จะแนะนำให้ตรวจดูหลอดเลือดโดยตรง ด้วยการเอกซเรย์ที่เรียกว่า การฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ (Angiogram) จะได้ทราบว่าตีบหรือตันจุดใดบ้าง เพื่อเลือกวิธีรักษาให้เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย
แพทย์อาจจะให้ยาอมใต้ลิ้นเมื่อมีอาการ หรือให้เป็นสเปรย์ใส่ปากไว้ติดตัว โดยแนวทางการรักษาที่สำคัญมี 3 ประการ คือ
- รักษาด้วยยา อย่างเช่น ยาแอสไพริน และมียาที่ให้ทางหลอดเลือดดำ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาล แพทย์จึงให้ยาทางหลอดเลือด
- การขยายหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ เพื่อให้เลือดไหลผ่านได้มากขึ้น โดยอาจใช้ลูกโป่งหรือวิธีอื่นๆ
- รักษาโดยการผ่าตัดทำทางเบี่ยงให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจ เรียกว่า 'บายพาส (Bypass Graft)'
โรคนี้ป้องกันได้โดยการดูแลไม่ให้ไขมันในเลือดสูง ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน งดสูบบุหรี่ งดสุรา เครื่องดื่มอัลกอฮอล์ ควบคุมความันโลหิต โรคเบาหวาน ขจัดความเครียดและตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง