อาการ ระยะแรกเริ่มอาจไม่มีอาการผิดปกติชัดเจน จนเมื่อเซลล์ตับถูกทำลายเป็นจำนวนมาก จึงมีอาการอ่อน
เพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ น้ำหนักลด เท้าบวม ดีซ่าน คันตามร่างกาย เนื่องจากน้ำดีสะสมตามผิวหนัุงและมีอาการปวดใต้ชายโครงด้านขวาเล็กน้อย อาจคลำพบก้อนในท้องด้านขวา ต่อมาฝ่ามือจะเป็นสีแดง ผิวหนังบริเวณลำคอและหน้าอกมีเส้นเลือดรูปร่างคล้ายแมงมุม
ในผู้หญิงอาจมีอาการประจำเดือนขาด หรือมาไม่สม่ำเสมอ มีหนวดขึ้นหรือเสียงแหบห้าวคล้ายผู้ชาย
ในผู้ชายอาจมีอาการนมโต และเจ็บ ขนร่วงเพราะมีโฮอร์โมนเพศหญิงมากขึ้น อัณฑะฝ่อตัว องคชาตไม่แข็งตัว
อาการที่อาจจะคล้ายโรคอื่น
- อาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ดีซ่าน อาจเกิดจากโรคตับอักเสบจากไวรัสชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง ซึ่งแยกจากโรคตับแข็งได้จากผลตรวจเลือด
- อาการน้ำหนักลดและท้องบวม อาจเกิดจากมะเร็งตับ มะเร็งของอวัยวะอื่นๆ ในช่องท้อง เช่น รังไข่ กระเพาะอาหาร เป็นต้น
ผู้ป่วยโรคตับแข็งจะมีพังผืดเกิดขึ้นที่เนื้อตับ เซลล์ตับเสีย กลายเป็นตะปุ่มตะป่ำ ทำงานได้ไม่ดี
สาเหตุ ในคนไทยมักเกิดจากการดื่มสุราเป็นนิสัย และจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอย่างเรื้อรัง นอกจากนี้ยังมีสาเหตุได้จากโรคแพ้ภูมิตนเอง (Autoimmune Disease) ที่มีการทำลายเนื้อตับ ผู้ที่มีโรคของท่อน้ำดี รวมทั้งยา (เช่น พาราเซตามอล ยารักษาวัณโรค เป็นต้น) หรือสารพิษ (เช่น สารหนู ยาฆ่าแมลง โลหะหนัก เป็นต้น) หากได้รับติดต่อกันเป็นเวลานานก็ทำให้เกิดตับแข็ง
หลังจากเป็นตับแข็งอยู่หลายปี หรือผู้ป่วยยังคงดื่มสุราจัด อาจมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ คือ
- อาการท้องบวม เพราะมีน้ำคั่งในท้อง เนื่องจากตับไม่สามารถสร้างโปรตีนไข่ขาว
- หลอดเลือดขอดที่ขา
- หลอดเลือดพองที่หน้าท้อง
- อาเจียนเป็นเลือดสด เนื่องจากมีหลอดเลือดขอดที่หลอดอาหาร ที่ติดกับตับ แล้วเกิดการปริแตกขึ้นมา
- มีจุดแดงจ้ำเขียวตามตัว เนื่องจากตับไม่สามารถผลิตสารที่ทำให้เลือดแข็งตัว ทำให้มีเลือดออกง่าย มีจุดเลือดตัว
- มีตัวเหลืองและตาเหลือง เนื่องจากตับไม่สามารถขับน้ำดี
- มีนิ่วในถุงน้ำดี
- สูญเสียความสามารถเกี่ยวกับความจำ เนื่องจากการคั่งของของเสีย
- มีปัญหาต่อระบบอื่น เช่น ติดเชื้อง่ายเนื่องจากภูมิคุ้มกันลดลง เป็นต้น
- ไตวาย
- พบว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งตับสูงกว่าคนปกติ
ในที่สุดเมื่อเซลล์ตับถูกทำลายหมด ผู้ป่วยมักจะมีอาการผิดปกติทางสมองเกิดอาการซึม เพ้อ มือสั่น หมดสติ เมื่อตับทำงานล้มเหลว และเสียชีวิต
การรักษา เมื่อมีอาการสงสัยว่าเป็นโรคตับแข็ง เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ น้ำหนักลด ดีซ่าน ฝ่ามือแดง จุดแดงตามหน้าอก หน้าท้อง ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีประวัติดื่มสุราจัด หรือเป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด-บี หรือชนิด-ซี มาก่อน ควรรีบพบแพทย์
แพทย์มักจะวินิจฉัยโดยการตรวจเลือดดูการทำงานของตับเป็นการตรวจเบื้องต้นและตรวจความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด
หากมีอาการรุนแรงแล้วมักต้องตรวจพิเศษ เช่น อัลตราซาวนด์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ บางรายอาจต้องทำการเจาะตับนำชิ้นเนื้อไปตรวจ
ถ้าเป็นตับแข็งระยะแรกเริ่ม มักจะให้การรักษาตามอาการ ให้วิตามินรวมและกรดโฟลิกเสริมบำรุง ข้อสำคัญคือ ต้องงดดื่มสุราโดยเด็ดขาด และอย่าซื้อยารับประทานเอง เพราะอาจมีพิษต่อตับมากขึ้น รวมทั้งต้องระวังการติดเชื้อทั้งจากอาหาร น้ำดื่ม และโรคทางเดินหายใจ โรคนี้ถ้าเป็นระยะแรกเริ่มและปฏิบัติตัวได้เหมาะสม เลิกสุราได้อย่างเด็ดขาดจะสามารถมีชีวิตได้นานเกิน 5-10 ปีขึ้นไป
ถ้ามีอาการเท้าบวมหรือท้องมาน ก็จะให้ยาขับปัสสาวะ อย่างเช่น สไปโน โรแลกโทน (spinorolactone) กินเป็นประจำ พร้อมกับงดอาหารเค็มและห้ามดื่มน้ำเกินวันละ 1,500 ลบ.ซม. เมื่อมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ท้องมาน อาเจียนเป็นเลือด เป็นต้น ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอยู่ได้อีก 2-5 ปี
ในระยะท้ายของโรคที่มีอาการทางสมองร่วมด้วย จำเป็นต้องลดปริมาณโปรตีนลง (เพราะโปรตีนจะสลายเป็นสารอัมโมเนียที่มีผลต่อสมอง)
ในรายที่มีอาเจียนเป็นเลือดเนื่องจากหลอดเลือดขอดที่หลอดอาหารปริแตก ก็จะให้เลือดและทำการห้ามเลือด บางรายแพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดเปลี่ยนตับซึ่งช่วยให้สามารถมีชีวิตยืนยาวได้ แต่ยังเป็นวิธีรักษาที่ยุ่งยาก ราคาแพง และไม่ค่อยมีผู้บริจาคตับ