อาการ ปวดเมื่อยคอ ทำอะไรไม่ถนัด ก้มหน้าก็ปวด เอียงคอก็ปวด ส่วนสาเหตุนั้น มักเกิดจากกล้ามเนื้อ
และเส้นเอ็นแข็งเกร็ง เพราะกล้ามเนื้อข้างใดข้างหนึ่งถูกใช้งานมากเกินไป ซึ่งมักเกิดจากอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง เช่น การนั่งก้มหน้าทำงานต่อเนื่องนาน การเงยหน้าทำงานต่อเนื่องนานๆ คนที่ชอบยืนหลังค่อม คนที่ยืนพุงยื่น และพบว่ามักเกิดจากการนอนตกหมอนด้วย นอกจากนี้การนอนคอพับไปข้างใดข้างหนึ่ง นอนหมอนสูงเกินไปก็เป็นสาเหตุของอาการปวดคอ
อาการปวดคอที่ควรไปพบแพทย์ ได้แก่
1. ปวดคอที่เกิดขึ้นภายหลังจากการได้รับอุบัติเหตุโดยตรง
2. ปวดคอตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่ดีขึ้น
3. ปวดคอที่รุนแรงมากๆ
4. ปวดคอร่วมกับการปวดร้าวลงมาตามแขน แสดงว่ามีหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท
5. ปวดคอร่วมกับอาการแขนชา และไม่มีกำลัง แสดงว่าการทำลายของเส้นประสาทบริเวณคอ
6. อาการปวดคอที่รุนแรงมากจนรบกวนการทำงาน หรือยกแขนขึ้นเหนือศีรษะไม่ได้
7. กรณีที่ปวดคอและมีอาการคอเคล็ด รวมถึงปวดศีรษะ มีไข้สูง ตาไม่สู้แสง และมีผื่นแดง ต้องพบแพทย์ แสดงว่าอาจมีการติดเชื้อ
8. ปวดคอและต่อมน้ำเหลืองที่คอบวม หรือมีอาการกลืนลำบากร่วมด้วย อาจมีติดเชื้อหรือมีโรคมะเร็ง
การรักษา หากปวดเมื่อยคอโดยคาว่ามีสาเหตุของกล้ามเนื้อเกร็งควรพักการใช้งานในระยะแรกที่มีการอักเสบ จากนั้นใช้ยานวดทาถูเพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว หรือใช้น้ำแข็งประคบ ถ้าเป็นมากอาจต้องใช้วิธีกินยาหรือร่วมกับการทำกายภาพบำบัด
สำรวจว่าลักษณะหมอนดีหรือยัง
- หมอนที่ดีควรหนุนบริเวณต้นคอและหนุนบริเวณศีรษะด้วย ให้ลำคอไม่เบี้ยวหรือตกไปข้างใดข้างหนึ่ง
- หมอนที่ใช้นอนตะแคงควรสูงกว่าหมอนนอนหงาย และคอจะขนานกับพื้นเวลานอนตะแคง
- อย่าใช้หมอนที่แข็งหรือสูงเกินไปจนทำให้ศีรษะกระดกขึ้น
สำรวจอิริยาบถว่าถูกต้องหรือยัง เช่น
- ไม่ควรนอนคว่ำเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ลำคอบิดผิดท่าและเกิดปวดคอได้
- ไม่ควรสลัดผมบ่อยๆ หรือหันหน้าเร็วๆ
- การใช้โทรศัพท์อย่าเอียงศีรษะมาด้านโทรศัพท์ ให้หัดพูดโทรศัพท์แบบคอตรง
- หากทำงานที่ต้องก้มคอเป็นระยะนานๆ เช่น เขียนหนังสือ ช่างฝีมือ ใช้คอมพิวเตอร์ ควรพยายามเปลี่ยนท่านั่ง ลุกขึ้นบิดตัวดังในภาพ บริหารศีรษะและลำคอบ่อยๆ อย่างน้อยที่สุดให้ลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถทุก 1 ชั่วโมง
เมื่อทุเลาลงควรบริหารกล้ามเนื้อรอบลำคอให้แข็งแรงทุกวัน และทำงานในอิริยาบถที่ถูกต้อง