ต้องยอมรับว่าปัจจุบันอาการปวดศีรษะ มีความหลากหลายและเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะมีอาการ
ปวดศีรษะที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของสมองและเส้นประสาท อาการปวดศีรษะจากภาวะต่างๆ เช่น เนื้องอก, เลือดออกในมอง, การติดเชื้อในสมองหรือเยื่อหุ้มสมอง และการปวดศีรษะจากเส้นประสาทที่ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งอาการปวดหัวที่เกิดขึ้นในบางกรณีมีความรุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
นพ.ยรรยงค์ ทองเจริญ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาทโรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยว่า อาการปวดศีรษะ เป็นอาการที่ผู้ป่วยเข้ามาปรึกษาประสาทแพทย์เป็นอันดับต้นๆ อาการปวดศีรษะทำให้เกิดความทุกข์ทรมานทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ รวมทั้งทำให้ไม่สามารถทำงานได้หรือทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ทางโรงพยาบาลกรุงเทพจึงได้เปิดคลินิกปวดศีรษะขึ้น เพื่อช่วยให้การรักษาโรคปวดศีรษะทำได้ครอบคลุมทุกอาการปวดมากขึ้น
อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท แนะนำว่า คนทั่วไปสามารถสังเกตลักษณะอาการปวดที่เป็นสัญญาณเตือนให้รีบไปพบแพทย์ เช่น อาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ภายในระยะเวลาเป็นวินาทีหรือนาที อาการปวดศีรษะที่พบร่วมกับความผิดปกติของระบบประสาท เช่น ซึมลงหรือสับสน, ความจำผิดปกติ, แขน-ขา อ่อนแรง, การมองเห็นผิดปกติ, ชักเกร็ง อาการปวดศีรษะที่มีอาการทางระบบอื่นๆ เช่น ไข้, หนาวสั่น, เหงื่อออกกลางคืน, น้ำหนักลด อาการปวดศีรษะต่อเนื่องกันทุกวัน, ปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้น, ความถี่ของการปวดเพิ่มขึ้น หรือ ลักษณะการปวดที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
นอกจากนี้สำหรับอาการปวดอื่นๆ เช่น อาการปวดศีรษะที่เกิดจากการไอ, จาม, เ่บ่ง, การออกกำลัง หรือ การเปลี่ยนท่าทาง ปวดศีรษะที่เกิดในคนอายุมากกว่า 40 ปี, ผู้ป่วยโรคมะเร็ง, ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ปวดศีรษะที่เกิดในผู้ที่ตั้งครรภ์ หรือหลังคลอด หรือผู้รับประทานยาคุมกำเนิด และปวดศีรษะที่เกิดในผู้ที่มีภาวะอ้วนมาก ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณเบื้องต้นแจ้งเตือนให้ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
เรืออากาศโท นพ.กีรติกร ว่องไววาณิชย์ ปายุรแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวเสริมว่า อาการปวดศีรษะที่พบได้บ่อย ณ ปัจจุบัน คือ ปวดศีรษะไมเกรน ซึ่งพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยอาการที่แสดงออกชัดเจนคือ ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะข้างเดียว หรืออาจย้ายข้างได้หรือปวดศีรษะทั้ง 2 ข้าง รูปแบบการปวดไมเกรนมีอาการปวดแบบตุ้บๆ (คล้ายเส้นเลือดเต้น) และอาจปวดรุนแรงมากจนทำให้การเรียนหรือการทำงานเสียไป ในบางรายอาจส่งผลถึงการทำกิจวัตรทั่วไป เช่น การเดินจะทำให้อาการปวดเป็นมากขึ้น ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือ มีอาการไม่อยากเห็นแสงจ้าและไม่อยากได้ยินเสียงดัง ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาการปวดศีรษะจะเป็นอยู่นาน 4-72 ชั่วโมง บางคนอาจมีอาการเจ็บที่บริเวณหนังศีรษะจะเป็นอยู่นาน 4-72 ชั่วโมง บางคนอาจมีอาการเจ็บที่บริเวณหนังศีรษะหรือรอบกระบอกตาร่วมด้วยได้
อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท กล่าวว่า อาการปวดศีรษะไมเกรน เกิดจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้าที่ผิวสมอง ทำให้สมองเกิดการกระตุ้นได้ง่ายและไวกว่าคนปกติ หลังจากสมองถูกกระตุ้นแล้ว จะเกิดกระแสไฟฟ้าวิ่งไปตามผิวของสมองอย่างช้าๆ (ทำให้เกิดอาการการเตือนขึ้นมา) กระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้การไหลเวียนของเลือดในสมองเปลี่ยนแปลงไปและยังไปกระตุ้นเส้นประสาทสมอง ทำให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทบางชนิด มีผลทำให้หลอดเลือดสมองเกิดการขยายตัวและเกิดการอักเสบขึ้น เป็นผลทำให้มีอาการปวดศีรษะในที่สุด
ปวดศีรษะไมเกรนมีความแตกต่างอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับอาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว ซึ่งมีอาการปวดศีรษะทั้ง 2 ข้าง ลักษณะปวดหนักๆ เหมือนโดนบีบรัด อาการปวดระดับน้อยถึงปานกลาง การทำกิจวัตรทั่วไป ไม่กระตุ้นให้ปวดมากขึ้น มักไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน อจากมีอาการไวต่อแสงจ้าหรือไวต่อเสียงดัง
ไมเกรน
เป็นอาการปวดศีรษะที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 รองจากอาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็ง (Tension type headache) ซึ่งพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2-3 เท่า โดยมักเริ่มมีอาการครั้งแรกตอนช่วงวัยรุ่นถึงวัยกลางคน
อาการปวดศีรษะไมเกรนสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ไมเกรนที่ไม่มีอาการเตือน (Migraine without aura) และไมเกรนที่มีอาการเตือน (Migraine with aura) ซึ่งอาการเตือนที่พบบ่อย ได้แก่ การมองเห็นผิดปกติ โดยจะเห็นแสงเป็นเส้นซิกแซกคล้ายฟันเลื่อย อาจจะมีหรือไม่มีสี หรือเห็นภาพมืดไปเป็นบางส่วน หรือมองเห็นภาพไม่ชัด หลับตาแล้วยังเห็นได้อยู่ หรือเห็นภาพบิดเบี้ยว ซึ่งอาการเตือนอื่นๆ เช่น อาการชาที่มือ-แขน หรือชารอบปาก, ไม่สามารถพูดได้ชั่วคราวหรือนึกชื่อไม่ออก, หรือมีอาการอ่อนแรงของแขน-ขาซีกหนึ่งของร่างกาย เป็นต้น ในผู้ป่วยบางรายจะพบว่ามีสิ่งกระตุ้น ที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนขึ้นมา เช่น ภาวะเครียด, การอดนอน, การนอนและตื่นที่ไม่เป็นเวลา, ช่วงที่เป็นประจำเดือน, กลิ่นหรือควัน, การเปลี่ยนแปลงของอากาศ หรือ ความร้อน, แสงแดด, อาหารบางชนิด (อาหารหมักดอง, ชีส, ไวน์) ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยควรสังเกตและพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นนั้น
ปวดศีรษะไมเกรน ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือได้รับการรักษาช้า จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของระบบรับความเจ็บปวดในสมอง ทำให้มีอาการปวดศีรษะที่รุนแรงขึ้น ความถี่ของการปวดศีรษะเพิ่มมากขึ้น ไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวดและอาจพบอาการเจ็บแปล้บๆ ที่บริเวณรอบกระบอกตาหนือหนังศีรษะ ตลอดจนพบความผิดปกติของสมอง เช่น สมองฝ่อเล็กลง และมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อสมองสีขาว
อย่างไรก็ตามแม้การปวดศรีษะไมเกรนเป็นโรคเรื้อรังแต่สามารถควบคุมได้ด้วยการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง และการใช้ยาอย่างเหมาะสม และเมื่ออายุมากขึ้นมักจะมีอาการปวดศีรษะลดลง สำหรับการรักษาปวดศีรษะไมเกรน แบ่งได้ 2 ประเภทคือ
- ระยะที่มีอาการปวดศีรษะเฉียบพลัน ใช้เฉพาะเวลามีอาการปวดศีรษะเท่านั้น และให้รับประทานยาหลังจากที่เริ่มมีอาการปวดศีรษะทันที จะได้ผลในการรักษาอาการปวดศีรษะที่ดี และ
- ระยะที่ไม่ปวดศีึรษะ (ยาป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรน) ต้องรับประทานติดต่อกันทุกวัน ท้ายสุดสำหรับผู้ที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนในช่วงมีประจำเดือน สามารถรับประทานยา ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือ ยากลุ่มทริปแทน ในช่วงก่อนมีประจำเดือนประมาณ 2-3 วัน และรับประทานยาต่อจนหมด ประจำเดือน 4-5 วัน
ทั้งนี้การดูแลตนเองของคนทั่วไปสามารถทำได้ โดยอย่างแรกควรสังเกตและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะนอนพักผ่อนให้เพียงพอ และตรงตามเวลาทุกวัน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่หักโหมจนเกินไป งดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic stroke) งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ, ชา, น้ำอัดลม, เครื่องดื่มชูกำลัง และถ้าอาการปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้น หรือมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป ควรปรึกษาแพทย์ทันที