อาการเวียนศีรษะมีหลายแบบ บางคนเรียกว่า มึนศีรษะ หนักศีรษะ เป็นลม คนส่วนใหญ่มีอาการเวียนศีรษะ
แบบไม่ร้ายแรง เช่น อดนอน เครียดแล้วเวียนศีรษะ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม โรคร้ายแรงที่ทำให้เวียนศีรษะก็มีอยู่มาก สาเหตุที่พบได้บ่อยคือ โรคของหูชั้นใน และโรคระบบความดันโลหิต ดังนั้นเมื่อมีอาการสังเกตว่ามีลักษณะของอาการเวียนศีรษะอย่างไร ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยได้มากพอสมควร
1. อาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุน
เป็นอาการที่สิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุนการเปลี่ยนท่า อย่างเช่น หันหน้าหรือการเปลี่ยนจากนอนเป็นนั่งจะทำให้เกิดอาการหมุน ทำให้เกิดอาการคลื่นใส้ อาเจียน สาเหตุเกิดจากโรคของหูชั้นในได้แก่
- การอักเสบของหูชั้นในจากเชื้อไวรัส
- เกิดจากน้ำเลี้ยงในหูชั้นในเพิ่มขึ้น
- เกิดจากเนื้องอกกดเส้นประสาท
- ยาหลายชนิดทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่น แอสไพริน สเตรปโตมัยซิน เจนตามัยซิน กาเฟอีน อัลกอฮอล์ และยารักษาโรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ
2. อาการหน้ามืดเป็นลม
มักเกิดขณะนั่งหรือนอนแล้วลุกขึ้นยืน ผู้ป่วยจะรู้สึกเป็นลม หน้ามืด มีอาการใจสั่น เหงื่อออก หน้าซีด ต้องนอนหรือนั่งจึงดีขึ้น บางรายมีคลื่นไส้ มีสาเหตุจาก
- ความดันโลหิตต่ำ มีอาการขณะลุกขึ้นยืน เลือดจะไหลไปที่เท้าเนื่องจากแรงโน้มถ่วง ร่างกายจะปรับตัวโดยการบีบตัวของหลอดเลือดดำเพื่อให้เลือดกลับไปที่หัวใจเพิ่ม ทำให้หัวใจจะเต้นเร็วขึ้น
- เกิดจากยาลดความดันโลหิต
- การเจ็บป่วยทำให้ได้รับน้ำไม่พอ และในผู้ป่วยขาดน้ำอย่างรุนแรง เช่น ท้องร่วงหรืออาเจียน หัวใจเต้นเร็วไปหรือช้าไป เป็นต้น
- โรคของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น โรคเบาหวาน จะมีภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอชั่วคราว ทำให้เกิดอาการหน้ามืด เป็นต้น
- เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ จากโรคทางหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ ขาดออกซิเจน สมองขาดเลือดชั่วคราว เป็นต้น
3. ผู้ป่วยที่มีอาการหนักศีรษะมึนๆ สาเหตุที่พบบ่อยได้แก่
- โรคหูชั้นใน
- โรคเครียด โรคทางจิต เช่น ไมเกรน เครียด นอนไม่หลับ พักผ่อนน้อย เป็นต้น
4. เวียนศีรษะแบบเดินเซทรงตัวไม่ได้ สาเหตุได้แก่
- โรคหูชั้นใน เช่น น้ำในหูไม่เท่ากัน ตะกอนในหู เป็นต้น
- โรคของระบบประสาท เช่น การบาดเจ็บบริเวณศีรษะ เป็นต้น
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเสื่อมและกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทำให้การทรงตัวลำบาก
- จากยา เช่น ยานอนหลับ ยากันชัก เป็นต้น
ยังมียาอีกหลายชนิด และสารพิษที่มีพิษต่อหู คือ ทำให้การได้ยินและการทรงตัวเสียไป อาการอาจเกิดขณะใช้ยาไปสักครู่ หรือเกิดขึ้นภายหลังการหยุดใช้ยาไปนานแล้ว มีตั้งแต่เสียงดังในหู เวียนศีรษะ จนกระทั่งหูหนวก ได้แก่ ยาและสารพิษต่อไปนี้
- ยาปฏิชีวนะ เช่น อมิกาซิน สเตรปโตมัยซิน นีโอมัยซิน เจนตามัยซิน กานามัยซิน โทบรามัยซิน เนททิลมัยซิน เป็นต้น
- ยารักษามะเร็ง เช่น ซิสพลาติน บลีโอ มัยซิน วินคริสติน ไนโตรเจนมัสตาร์ด วินบลาสติน เป็นต้น
- ยาขับปัสสาวะ เช่น ฟูโรซีไมด์ บูมีตาไนด์ ทอร์ซีไมด์ อะเซตาโซลาไมด์ แมนนิทอล เป็นต้น
- ยาอื่นๆ เช่น ควินิดีน คลอโรควิน ควินีน เป็นต้น
- สารพิษ เช่น ไตรคลอโรเอธิลีน ไซลีน สไตรรีน บิวทีลไนไตรท์ โทลูอีนฮกเซน คาร์บอน ไดซัลไฟด์ ปรอท มังกานีส ตะกั่ว คาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นต้น
ควรสังเกตด้วยว่าอาการเวียนศีรษะนั้นมีลักษณะต่อไปนี้ปรากฎหรือไม่
- ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการ
- ปัจจัยที่ทำให้หาย
- เป็นแต่ละครั้งนานแค่ใหน
- เป็นบ่อยแค่ใหน
- อาการที่เกิดร่วมกับอาการเวียนศีรษะ
- มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วยหรือไม่
- มีอาการเครียดด้วยหรือไม่
- มีอาการหน้ามืดเป็นลมหมดสติร่วมด้วยหรือไม่
- มีเสียงดังในหู
อาการเวียนศีรษะที่ต้องปรึกษาแพทย์
- เวียนศีรษะร่วมกับอาการหมดสติ
- เวียนศีรษะร่วมกับตามัว
- เวียนศีรษะร่วมกับนูหนวก
- เวียนศีรษะร่วมกับอาการพูดลำบาก
- เวียนศีรษะร่วมกับอ่อนแรงตามบริเวณแขนและขา
- เวียนศีรษะร่วมกับรู้สึกชาบริเวณแขนและขา
- เวียนศีรษะบ้านหมุน
- เวียนศรีษะจนทำงานประจำไม่ได้
- หากสงสัยว่าเกิดจากยาควรปรึกษาแพทย์
- หากมีอาการมึนๆ มากกว่า 3 สัปดาห์
- มีอาการอื่นร่วม เช่น แน่นหน้าอก หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เป็นต้น
การตรวจวินิฉัย
เมื่อไปพบแพทย์ ผู้ป่วยควรจะบอกลักษณะอาการเวียนศีรษะและบอกถึงสาเหตุ เช่น ทานยาหรือพักผ่อนน้อย เป็นต้น บอกโรคที่เป็นเคยเป็น หรืออุบัติเหตุ โดยเฉพาะด้านหูและรบบประสาท เพื่อจะได้มีการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
แนวทางการตรวจ สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงแพทย์จะให้ยาแก้เวียนศีรษะ แต่หากมีอาการรุนแรงแพทย์จะตรวจให้ละเอียดยิ่งขึ้นเพื่อหาโรค
- เวียนศีรษะแบบบ้านหมุน จะตรวจระบบหู ตรวจตา ว่ามีการกระตุกตรวจการได้ยิน ตรวจจมูก คอ
- เวียน ศีรษะแบบหน้ามืดเป็นลม จะตรวจชีพจร วัดความดัน ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจการทำงานของหัวใจ เช่น อัลตราซาวนด์ หัวใจ วัดความดันท่านอนและยืน
- เวียนศีรษะแบบหนักๆ ศีรษะ จะตรวจทางจิตว่ามีความเครียดหรือไม่อาจจะให้หายใจแรงๆ ดูว่ามีอาการหรือไม่
- เวียนศีรษะแบบเดินเซ จะตรวจระบบการทรงตัวโดยการยืนหลับตาตรวจระบบประสาท
ถ้าสงสัยว่าผู้ป่วยเวียนศีรษะเพราะมีภาวะทางระบบประสาทและสมองจำเป็นต้องตรวจเอกซเรย์สมองเพิ่มเติม ในโรงพยาบาลใหญ่หรือโรงพยาบาลเอกชนชั้นดี จะมีเครื่องมือตรวจพิเศษเพื่อช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคเวียนศีรษะรุนแรงด้วยวิธี
- เครื่องตรวจการได้ยิน (Audiometry) เป็นการตรวจวัดการได้ยินโดยเครื่องไฟฟ้า เพื่อให้ทราบความสามารถในการรับเสียง ณ ความถี่ต่างๆ
- ตรวจวัดการได้ยินโดยวิธีพิเศษเพื่อรู้สมรรถภาพการได้ยิน เพื่อแยกตำแหน่งรอยโรคของหูชั้นในและสมอง
- เครื่องตรวจวิเคราะห์การทำงานของระบบประสาทการทรงตัว เพื่อแยกหาสาเหตุการเสียการทรงตัว
- เครื่องตรวจความต่างศักย์ไฟฟ้าในหูชั้นใน
- เครื่องมือตรวจวิเคราะห์การทำงานของหูชั้นใน
- ซึ่งเครื่องมือต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้การตรวจวินิจฉัยโรคของหูชั้นในมีความถูกต้อง แม่นยำ โดยไม่ต้องเสียเวลาไปพบแพทย์หลายๆ โรงพยาบาลเพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง
การดูแลตัวเองเมื่อเวียนศีรษะ
นอนพักจนอาการเริ่มดีขึ้น เวลาลุกนั่งอย่าเปลี่ยนท่าอย่างกระทันหัน หันศีรษะช้าๆ ในทุกวันควรจำกัดเกลือ หลีกเลี่ยงยาบางชนิดที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลง กำจัดความเครียด หลีกเลี่ยงกลิ่นฉุน ควันต่างๆ เลี่ยงการอ่านหนังสือขณะอยู่บนเรือหรือรถที่กำลังแล่น
สามารถรับประทานยาแก้เวียนศีรษะ เช่น ไดเมนไฮดริเนต โปรเมทาซีน สโคโปลามีน อะโทรปีน ไดอาซีแปม เป็นต้น ยาลดอาการเวียนศีรษะ และยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน ควรใช้ในขณะที่มีอาการเท่านั้น ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะทำให้อาการบ้านหมุนหายช้าลง ไม่เกิดการปรับตัวตามธรรมชาติของสมอง