อาการ หากมีการฉีกขาดของเส้นใยหมอนรองกระดูกสันหลังไม่มากนักจะเกิดความเจ็บปวดเฉพาะส่วน
หลังที่บาดเจ็บนั้น หากการฉีกขากของเส้นใยมีมากก็จะทำให้สารเหลวคล้ายวุ้นเคลื่อนตัวออกมาภายนอก กดทับเส้นประสาท จะปวดร้าวไปตามเส้นประสาทนั้นๆ ที่พบมากคือ ปวดร้าวจากหลังไปยังน่อง หรือหลังเท้า หากมีการกดทับรากประสาทมาก จะเกิดการปวดชาร้าวไปที่ปลายเท้าและขาไม่มีแรง รวมทั้งมีเดินเซและควบคุมการอุจจาระ ปัสสาวะไม่ได้
หมอนรองกระดูกสันหลังเป็นมีเนื้อเยื่อที่อยู่ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อทำหน้าที่รองรับแรงกระแทกและยืดหยุ่นเวลาเคลื่อนไหว ลักษณะรูปร่างหมอนรองกระดูกสันหลังเป็นวงกลมๆ โดยมีขอบเป็นพังผืดเหนียว แข็งแรง ประกอบด้วยเส้นใยประสานกัน ภายในจะมีของเหลวคล้ายวุ้นเป็นสารถ่ายรับน้ำหนัก และกระจายน้ำหนัก
สาเหตุ
- หมอนรองกระดูกสันหลังปกติแต่รับน้ำหนักมากจนหมอนรองกระดูกสันหลังไม่สามารถรับน้ำหนักนั้นได้ ทำให้เกิดการฉีกขาดของพังผืด เส้นใยขอบนอก
- หมอนรองกระดูกสันหลังผิดปกติ จึงไม่สามารถรับน้ำหนักร่างกายได้เนื่องจากเกิดการฉีกขาดพังผืดเส้นใยขอบนอก
- มักเกิดจากการใช้งานผิดท่า เช่น คนที่แบกหามทำงานหนัก นั่งผิดท่า นอนผิดท่า เป็นต้น
- ในวัยกลางคนหรือวัยชรา ซึ่งปกติแล้วร่างกายมีการสร้างน้ำภายใน หมอนรองกระดูกลดลง หมอนรองแฟบลง จนกดทับเส้นประสาทเอาได้
การรักษา หลังซักประวัติและตรวจร่างกายในท่ายืน ท่าเดิน ตรวจการเคลื่อนไหวของแผ่นหลัง หากพบว่าเป็นไม่มากก็ไม่ต้องตรวจพิเศษ แพทย์จะรักษาแบบประคับประคองไปก่อน ให้ยาแก้ปวดรับประทาน ให้คำแนะนำในการดูแลตนเอง หรือให้นักกายภาพบำบัดมาช่วย เช่น ดึงหลัง อบหลังโดยใช้ความร้อนลึก (อัลตราซาวด์) หรือใส่เฝือกอ่อนพยุงหลัง (เครื่องรักหลัง) เป็นต้น
ผู้ป่วยไม่ควรหยุดพักการใช้หลังนานเกินไป เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อลีบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดพังผืด ทำให้กลายเป็นปวดหลังเรื้อรังได้มากขึ้น เมื่ออาการทุเลาควรทำกายบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรง
การรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดนี้มักจะต้องใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะดีขึ้น (เฉลี่ย 6 เดือน - 2 ปี) ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะหายดี
แต่ถ้าอาการปวดมากๆ หรือหลังจากทำการรักษาแล้วไม่ดีขึ้น ก็อาจจำเป็นต้องถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์ ซึ่งเห็นเฉพาะกระดูกเท่านั้น ไม่เห็นกล้ามเนื้อหรือหมอนรองกระดูกได้ ในบางกรณีจึงอาจต้องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) เอกซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้า (เอ็มอาร์ไอ) หรือฉีดสีเข้าในไขสันหลัง เพื่อดูพยาธิสภาพให้ชัดเจนก่อนทำการผ่าตัด
การผ่าตัดจะทำเมื่อมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน เช่น ปวดมาก และรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีการกดทับเส้นประสาททำให้ไม่สามารถกลั้นอุจจาระ ปัสสาวะ เป็นต้น ผลการผ่าตัดจะดีมากเกือบเท่าปกติ ผลการผ่าตัดจะดีมากในช่วงระยะแรก หลังจากผ่าตัดไปแล้วหลายปี หากไม่ดูแลตนเองในเรื่องอาหารและการบริหารแผ่นหลังก็อาจจะเกิดปวดหลังจากกระดูกเสื่อมขึ้น ซึ่งการรักษาจะยากมากและไม่ค่อยได้ผล ดังนั้นเมื่อแผลผ่าตัดทุเลา ต้องอาศัยการหมั่นบริหารแผ่นหลังด้วยและป้องกันกระดูกเสื่อมจึงจะป้องกันโรคปวดหลังได้ตลอดไป