อาการ มีอาการบวมทั่วร่างกาย ทั้งที่ใบหน้า หนังตา ท้อง และเท้าทั้งสองข้าง ซึ่งมักจะค่อยๆ เกิดเพิ่มขึ้น
ทีละน้อย ผู้ป่วยอาจสังเกตเห็นหนังตาบวมชัดเจนเวลาตื่นนอน ปัสสาวะสีใสเหมือนปกติ แต่จะออกน้อยกว่าปกติ ผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร แต่ไม่มีไข้ เดินและทำงานได้
โรคไตอักเสบเรื้อรังพบได้ในคนทุกวัย แต่พบมากในเด็กอายุ 1 ขวบครึ่ง ถึง 5 ปี มักเป็นเรื้อรัง และมีโอกาสเป็นๆ หายๆ หากปล่อยทิ้งไว้นานจะกลายเป็นโรคไตวาย
สาเหตุ อาการเกิดเนื่องจากร่างกายมีการสูญเสียโปรตีนออกไปทางปัสสาวะ เพราะมีความผิดปกติของหน่วยไต ซึ่งเป็นหน่วยเล็กๆ ที่ทำหน้าที่กรองปัสสาวะ ทำให้มีระดับโปรตีนในเลือดต่ำ จึงเกิดอาการบวมทั้งตัว
กลุ่มผู้มีความเสี่ยง
- ผู้ป่วยเบาหวาน โรคเอสเอลอี โรคปวดข้อรูมาตอยด์
- มาลาเรีย ตับอักเสบจากไวรัสบีหรือซี การติดเชื้อเอชไอวี
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว ผึ้งต่อย
- การแพ้สารหรือยาบางชนิด อย่างเช่น ไรแฟมพิซิน และยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
การรักษา ควรพบแพทย์ มีการซักประวัติและตรวจวินิจฉัยด้วยการตรวจปัสสาวะ ตรวจการทำงานของไต รักษาได้ด้วยการทานยาสเตียรอยด์และให้ยาลดกรดเกินควบคู่ไปด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคกระเพาะอาหาร เนื่องจากยาสร้างความระคายเคือง ผู้ป่วยควรเลี่ยงอาหารเค็มเพื่อลดอาการบวม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้เพียงพอ แพทย์จะนัดไปตรวจเลือดและปัสสาวะเป็นประจำ ถ้าพบว่าสารไข่ขาวในเลือดมีระดับสูงขึ้น และสารไข่ขาวในปัสสาวะลดน้อยลง พร้อมกับอาการบวมลดลง แสดงว่าอาการดีขึ้น และจะค่อยๆ ลดยาลงทีละน้อย
หากใช้การทานยาเปลี่ยนยาแล้วไม่ได้ผล อาจต้องเจาะไตเอาเนื้อไตไปตรวจหาสาเหตุและชนิดของโรค และอาจให้ยากดภูมิคุ้มกัน