อาการ ระยะแรก ก้อนนิ่วไม่โตมาก ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกผิดปกติแต่อย่างใด แต่หากมีก้อนนิ่วใหญ่จะปวดท้อง
รุนแรงมาก กล้ามเนื้อหน้าท้องแข็งเกร็ง บริเวณช่องท้องด้านบน หรือใต้ชายโครงด้านขวา หรืออาจปวดร้าวที่สะบักขวา ร่วมกับอาการคลื่นไส้และอาเจีึยน ซึ่งมักจะเกิดหลังจากรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อาจเป็นเพราะนิ่วในถุงน้ำดีมีขนาดใหญ่จนอุดตัน
หากทิ้งไว้นานก้อนนิ่วจะทำให้มีโรคแทรกซ้อน คือ
- ถ้าถุงน้ำดีอักเสบ จะมีอาการปวดใต้ชายโครงด้านขวา ร้าวไปที่ไหล่และหลังด้านขวา มีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน หลังรับประทานอาหารมื้อหนัก หรือทานอาหารที่มีไขมันมาก เกิดอาการปวดท้อง อาหารไม่ย่อย บางคนมีอาการเล็กน้อย แต่บางคนก็มีอาการรุนแรง ทั้งนี้ถุงน้ำดีอักเสบเกิดได้จากสาเหตุ จากมีก้อนนิ่วอุดกั้นทางเดินน้ำดีหรือจากการติดเชื้อแบคทีเรีย การถูกกระทบกระแทก
- ถุงน้ำดีอุดตัน ซึ่งจะมีอาการดีซ่านตัวเหลือง ตาเหลือง ร่วมกับอาการปวดท้อง
- ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน เพราะก้อนนิ่วหลุดเข้าไปอุดตันรูเปิดของตับอ่อน ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องรุนแรงบริเวณลิ้นปี่ หรือใต้ชายโครงซ้าย ซึ่งเป็นตำแหน่งของตับอ่อน
- ลำไส้อักเสบ เนื่องจากก้อนนิ่วหลุดเข้าไปในลำไส้เล็ก ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องเป็นพักๆ ท้องอืด แน่นท้อง
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว พบว่าผู้ใหญ่ร้อยละ 10-20 มีนิ่วในถุงน้ำดีและพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ก้อนนิ่วในถุงน้ำดีส่วนใหญ่ประกอบด้วยโคเลสเตอรอลและเกลือน้ำดี ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการที่ตับมีการหลั่งน้ำดีที่มีความเข้มข้นของโคเลสเตอรอลสูงกว่าปกติ
การรักษา วินิจฉัยด้วยการอัลตราซาวด์ เอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ อาจต้องตรวจเลือดดูการทำงานของตับด้วย
หากก้อนนิ่วมีขนาดเล็กสามารถใช้การทานยาละลายก้อนนิ่ว หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง ไม่รับประทานอาหารมาก ควบคุมน้ำหนักให้พอดี งดดื่มสุรา
แต่หากก้อนนิ่วใหญ่แล้วไม่อาจใช้ยารักษาได้ ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีทิ้ง ซึ่งมักมีผลตามมา เช่น ระบบย่อยอาหารไม่ปกติ ท้องอืด อาหารไม่ย่อย เป็นต้น ซึ่งควรหลีกเลี่ยงอาหารมันๆ และไม่รับประทานครั้งละมากเท่าเดิม สำหรับการรักษาด้วยวิธีใช้เครื่องสลายก้อนนิ่วพบว่าไม่่ค่อยได้ผลและทำให้ปวดท้อง