อาการ มะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกไม่แสดงอาการ ต่อมาจะมีอาการเลือดออกผิดปกติ ออกมาในลักษณะ
เป็นน้ำใสๆ หรือมีเลือดปนตกขาวหรือมีตกขาวมากผิดปกติด้วย ในรายที่เป็นมากอาจมีเศษเนื้อหลุดออกมา มีอาการปวดท้องน้อย มีเลือดออกหลังร่วมเพศ แต่อาการเลือดออกผิดปกติ ไม่ใช่อาการของมะเร็งเสมอไป อาจเกิดจากระดับฮอร์โมนผิดปกติก็ได้ หรือเกิดจากการอักเสบ
ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง คือ
- ผู้หญิงที่มีการติดเชื้อไวรัส HPV
- มีเพศสัมพันธ์มาก
- มีการอักเสยเรื้อรังของปากมดลูก
- ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์บ่อย
- มีสามีที่หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศไม่เปิด
การรักษา โรคนี้วินิจฉัยได้จากการตรวจภายในเพื่อดูขนาดและรูปร่างของมดลูก และใช้แผ่นโลหะแบนเรียบและไม่คม ขูดเอาเซลล์เพียงเล็กน้อยจากปากมดลูกมาทำแปปสเมียร์ (Pap smear) เพื่อตรวจหามะเร็งปากมดลูก อาจมีการตรวจเพิ่มเติมคือ สอดกล้องคอลโพสโคปเข้าไปในช่องคลอด ปากมดลูกอาจมีการตรวจอัลตราซาวนด์ การเจาะเลือด เมื่อพบสิ่งผิดปกติมักจะมีการเอกซเรย์ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อตรวจดูอวัยวะภายใน
วิธีการรักษามะเร็งปากมดลูกขึ้นกับระยะของมะเร็ง ความต้องการมีบุตรของผู้ป่วย และโรคทางนรีเวชอื่นๆ ที่เป็นร่วมด้วย
แพทย์มักทำการผ่าตัดร่วมกับการใช้รังสีรักษา การใช้เคมีบำบัด การใช้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนรักษาอย่างต่อเนื่อง มาพบแพทย์นับเป็นเวลาหลายปี จนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีมะเร็งแล้ว โอกาสรักษาหายมีอัตราสูง ถ้าไม่ปล่อยให้ลุกลามไปมาก
ก่อนตัดสินใจเลือดการรักษาใดๆ ควรสอบถามแพทย์ว่ามะเร็งที่เป็นอยู่นี้แพร่กระจายหรือยัง แพทย์เลือกวิธีไหน? ทำไมจึงเลือกวิธีนี้? โอกาสจะประสบผลสำเร็จมีมากน้อยเพียงใด มีความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงอะไรบ้าง ใช้เวลารักษานานเท่าใด ใช้ค่าใช้จ่ายแค่ไหน ต้องตรวจซ้ำบ่อยแค่ไหน ถ้าไม่รักษาจะเป็นเช่นใด
การรักษาภาวะก่อนมะเร็ง (precancerous) ซึ่งแบ่งความรุนแรงเป็น 3 ระดับ คือ น้อย ปานกลาง มาก ใช้วิธีการเฝ้าติดตาม หรือการจี้ทำลายเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกด้วยความเย็นจัดหรือใช้เลเซอร์ก็ได้ หรือตัดด้วยมีดผ่าตัด นอกจากนั้นสามารถตัดมดลูกทิ้งได้ ในรายที่มีบุตรเพียงพอแล้ว หรือต้องการทำหมันด้วย หรือหมดประจำเดือนแล้ว เป็นต้น
การตรวจภายใน (Pap smear)
ผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูกกันมาก การตรวจภายในจะช่วยในการค้นพบมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เนื่องจากโรคนี้ส่วนใหญ่มักมีการดำเนินของโรคช้าหลายปี ดังนั้นการไปตรวจภายในตามแพทย์แนะนำจะช่วยผู้หญิงได้
เว้นแต่ว่าในกลุ่มเสี่ยง คือ คนที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย และมีหรือเคยมีคู่หลายคน ปัจจุบันมีคู่นอนหลายคน หรือคนที่เคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือมีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งปากมดลูก คนที่เป็นหรือเคยเป็นโรคหูดหงอนไก่ หรือโรคเริมที่อวัยะเพศ คนที่สูบบุหรี่ คนที่ติดเชื้อเอดส์ เหล่านี้ต้องตรวจภายในทุกๆ ปีทีเดียว
การตรวจภายในต้องเตรียมตัวอย่างไร?
- เลือกวันที่หมดไปประจำเดือนแล้ว
- ก่อนไปตรวจควรทำความสะอาดอวัยวะเพศตามปกติมาจากบ้าน ไม่ต้องใส่น้ำหอม
- เสร็จแล้วตรงมาที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจ ไม่ต้องไปแวะทำกิจกรรมที่ไหนก่อน
- ควรสวมกระโปรงหรือกางเกงหลวมๆ ที่สามารถถอดออกง่าย
- งดการมีเพศสัมพันธ์คืนก่อนที่จะมาตรวจ
- ไม่ควรสวนหรือล้างภายในช่องคลอดก่อนมาตรวจ
- ไม่ควรจะเหน็บยาในช่องคลอด
แพทย์ซักประวัติและตรวจร่างกายแล้วก็จะเข้าห้องตรวจสูตินรีเวช ให้ผู้ป่วยนอนบนเตียงตรวจ วางเท้าไว้บนขาหยั่ง เพื่อให้ขาแยกออกอย่างมั่นคง ง่ายต่อการให้แพทย์ตรวจ โดยใช้นิ้วสอดเข้าไปคลำในช่องคลอดและใช้แผ่นโลหะแบนและบาง (สเปคคูลัม) และจะใช้ไม้ไปขูดเนื้อเยื่อที่ปากมดลูก และนำเซลล์นั้นไปส่งตรวจหามะเร็ง
หลังจากที่แพทย์ส่งเซลล์ไปตรวจต้องใช้เวลารอ 2-3 วัน จึงทราบผลว่า
- ปกติ
- มีความผิดปกติของเซลล์ แต่ไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัดว่าเป็นมะเร็งหรือไม่
- ลักษณะที่ตรวจพบจะมีโอกาสเป็นมะเร็งได้สูง ต้องนัดตรวจเพิ่ม อาจเป็นภาวะก่อนมะเร็งก็ได้
- มีเซลล์ผิดปกติ แพทย์ต้องตรวจต่อเลยทันที
- มะเร็งชัดเจน ต้องรักษาทันที
ภาวะมะเร็งปากมดลูกหมายถึง เมื่อความเปลี่ยนแปลงของปากมดลูกเป็นมาก เปลี่ยนจากภาวะก่อมะเร็ง เป็นมะเร็ง ซึ่งจะใช้เวลาหลายปี
แบ่งระยะได้ 4 ระยะดังนี้
ระยะที่ 1 มะเร็งจำกัดอยู่เพียงปากมดลูก
ระยะที่ 2 มะเร็งเริ่มลุกลามออกนอกปากมดลูกไปด้านข้าง
ระยะที่ 3 มะเร็งเริ่มลุกลามจนถึงอุ้งเชิงกราน
ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามไปไกล