มดลูกปกติมีรูปร่างคล้ายชมพู่ อยู่ระหว่างกระเพาะปัสสาวะกับลำไส้ตรง ส่วนล่างสุดของมดลูกจะคอดและ
แคบเรียกว่า 'ปากมดลูก' มีรูปร่างเป็นกรวยแข็ง ยื่นออกมาในช่องคลอด ตรงกลางมีรูกลวง
อาการ เนื้องอกในมดลูกเริ่มแรกมักมีขนาดเล็กเท่าเม็ดถั่ว แล้วค่อยๆ โตขึ้นช้าๆ ไปเรื่อยๆ ไม่ปรากฎอาการผิดปกติ ต่อมาเมื่อขนาดใหญ่ขึ้น จะมีอาการผิดปกติ เช่น
- เลือดออกผิดปกติ ประจำเดือนมามากหรือนาน หรือบ่อยผิดปกติ เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
- ตกขาวมากผิดปกติ
- ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบาก เพราะเนื้องอกไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ
- มีอาการปวดท้องน้อยหรือปวดหลังส่วนล่าง มักเป็นลักษณะปวดถ่วงๆ และอาจมีท้องใหญ่ขึ้นกว่าปกติ คลำก้อนได้ในท้อง
- ท้องอืดหรือท้องผูก ปวดถ่วงทวารหนัก ถ่ายอุจจาระลำบาก เพราะเนื้องอกไปเบียดลำไส้ใหญ่ด้วย
ในบางคนมีเนื้องอกขนาดเล็ก แต่เจ็บปวดมาก และทำให้ตกเลือดมากด้วยแต่หลายรายที่มีก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่มาก แต่ไม่เจ็บปวดเท่าใดนัก เพราะเป็นเนื้องอกที่อยู่ในชั้นใต้ผิวมดลูก เลือดก็ไม่ออกด้วย แต่การตรวจด้วยอัลตราซาวนด์จะทำให้พบก้อนเนื้อนี้ได้
โรคนี้เกิดขึ้นจากเซลล์กล้ามเนื้อของผนังมดลูกที่เจริญมากกว่าปกติจนกลายเป็นก้อนกลมอยู่ในผนังมดลูก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเนื้องอกชนิดนี้มักจะไม่เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง เนื้องอกในมดลูกพบมากในหญิงวัยทอง และวัยสูงอายุ บางคนก็เป็นตั้งแต่อายุยังน้อยในวัยเจริญพันธุ์
ปัจจัยเสี่ยง ยังไม่ทราบแน่ชัด ทราบเพียงว่า
1. เนื้องอกมดลูกมักพบได้บ่อยในสมาชิกครอบครัวเดียวกัน
2. มักมีปัญหาในคนวัยเจริญพันธุ์ เพราะฮอร์โมนเอสโตเจนของรังไข่มีอิทธิพลทำให้ก้อนเนื้องอกโตขึ้น
3. ฮอร์โมนเพศบางอย่างสามารถเข้าไปกระตุ้น ทำให้เกิดเนื้องอกรังไข่ เนื้องอกมดลูก
4. เมื่อมีก้อนเนื้องอกแล้ว บางคนก้อนโตเร็ว บางคนก้อนไม่โตขึ้นเลยก็ได้ และถ้าถึงภาวะหมดประจำเดือน ซึ่งรังไข่ไม่สร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน ก้อนเนื้องอกจะเท่าเดิมหรือลดขนาดลงได้
5. เมื่อตั้งครรภ์ ตอนแรกก้อนเนื้องอกจะถูกกระตุ้นให้โตขึ้น แต่ตอนท้ายๆ ก้อนเนื้องอกจะยุบตัวลง
อาการแทรกซ้อน
1. ผู้ป่วยน้อยรายมากที่เนื้องอกขยายใหญ่ เจริญมากขึ้นกลายเป็นก้อนมะเร็ง มีอาการที่ทำให้สังเกตได้ คือ มีอาการปวดท้องน้อยมากเป็นประจำ
2. ถ้าเป็นเนื้องอกแบบอยู่ด้านนอกตัวมดลูก และเกิดการบิดตัวของขั้วทำให้มีอาการปวดรุนแรง ถึงขนาดเป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ขึ้นได้
3. บางรายมีเนื้อตายและเลือดออกในก้อนทำให้ปวดรุนแรง นอกจากนี้ถ้าก้อนโตเร็ว ก้อนโตมาก อาจทำให้มีอาการปวด อึดอัด
4. ทำให้มีบุตรยาก ท้องแล้วมักแท้งบุตร (เนื้องอกที่ยื่นเข้าไปในโพรงมดลูก เป็นสาเหตุทำให้แท้งได้ร้อยละ 70 ของการตั้งครรภ์)
5. โลหิตจางจากการเสียเลือด
การรักษา แพทย์ถามประวัติอาการป่วย และตรวจภายในด้วย รวมทั้งอาจต้องตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีการอื่นๆ เช่น อัลตราซาวด์ หรือการส่องกล้องดูโพรงมดลูก (Hysteroscopy) หรืออาจใช้การส่องกล้องตรวจทางหน้าท้อง (Laparoscopy) จะต้องใช้เครื่องมือผ่านเข้าไปในร่างกายเพื่อตรวจ ทั้งนี้เพื่อให้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้องอกมดลูกที่มีอยู่
การรักษา ในบางรายที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็ก แพทย์จะแนะนำให้เฝ้าติดตามเนื้องอกไปเป็นระยะทุก 3-6 เดือนก่อน โดยเฉพาะในวัยทองที่เนื้องอกสามารถยุบลงไปได้เอง
บางรายไม่ต้องผ่าตัด เพียงแต่รับประทานแต่ยาให้ก้อนเนื้อยุบลง อาจใช้ยาได้ในกรณีต้องการรักษาชั่วคราวไปก่อน อย่างเช่น ทำให้ไม่มีประจำเดือน เพื่อให้ร่างกายไม่เสียเลือดมาก หรือในกรณีที่ไม่ต้องการมีบุตรอาจให้ทานยาเป็นระยะยาวได้ ปัจจุบันมียากลุ่มที่เรียกว่า GnRh analogue ซึ่งออกฤทธิ์ไม่ให้รังไข่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงทำให้เนื้องอกมดลูกมีขนาดเล็กลงได้
การจี้ทำลายเยื่อบุโพรงมดลูก เหมาะสมในรายที่มีเนื้องอกมดลูกขนาดเล็กไม่กี่ก้อน และมีประจำเดือนออกมาก วิธีการนี้จะใช้เครื่องจี้ไฟฟ้าหรือเลเซอร์ จี้ทำลายเยื่อบุโพรงมดลูกรวมทั้งเนื้องอกที่ยื่นเข้าในโพรงมดลูก หลังการจี้แล้วเลือดมักออกน้อยลง
ในบางรายอาจพิจารณาให้ตัดก้อนเนื้องอกออก หรือตัดเอาตัวมดลูกออกไปเลย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ขนาด และผลกระทบของก้อนเนื้องอก รวมทั้งความเร็วที่เนื้องอกโตมากขึ้น