อาการ ระยะแรกยังไม่มีอาการผิดปกติ เมื่อเป็นมากขึ้นจะมีอาการหน่วงช่องคลอด ต่อมาหากไม่รักษา อาการ
จะมากขึ้น จนอาจมีก้อนเนื้อของช่องคลอด หรือมดลูกโผล่ออกจากช่องคลอด บางครั้งอาจพบส่วนของผนังกระเพาะปัสสาวะ ผนังลำไส้เล็ก หรือผนังไส้ตรง เบียดดันส่วนของผนังช่องคลอด ตำแหน่งที่อยู่ติดชิดกันจนเกิดเป็นลักษณะโพรงได้เช่นกัน และทำให้มีเลือดออกเพราะการเสียดสี มีปัสสาวะบ่อย กะปริบกะปรอย กลั้นปัสสาวะไม่ได้ มีอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก
ภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อน แบ่งออกเป็น
1. หูรูดท่อปัสสาวะหย่อน ไม่สามารถปิดเพื่อกักเก็บปัสสาวะ
2. ท่อปัสสาวะหย่อน ห้อยต่ำลงมากกว่าปกติ เนื่องจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นยึดไม่แข็งแรงพอ ทำให้เกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ เวลาไอ จาม ปัสสาวะเล็ด
3. กระเพาะปัสสาวะหย่อน ย้อยต่ำลงมา เป็นผลให้ช่องคลอดด้านหน้าส่วนบนต่ำลงมาเป็นถุง มีอาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ เมื่อไออาจมีปัสสาวะไหลออกมา อาจมีก้อนเรียบยื่นออกมาที่ช่องคลอด ผนังช่องคลอดโป่ง
4. ลำไส้ส่วนปลายหย่อน มีการอ่อนแรงของการค้ำจุนของผนังช่องคลอดด้านหลัง ทำให้เกิดการยื่นของลำไส้ใหญ่เข้ามาในช่องคลอด มักเกิดร่วมกับฝีเย็บที่ขาด
5. ลำไส้ส่วนบนเลื่อน หรือเรียกว่า ไส้เลื่อน ยื่นย้อยเป็นถุงลงมาในช่องคลอด มักเกิดหลังการคลอดบุตรที่ต้องใช้เครื่องมือช่วยคลอด และมักพบภายหลังการฉีกขาดของกล้ามเนื้อระหว่างทวารหนักกับปากช่องคลอด
6. มดลูกหย่อน เป็นความผิดปกติที่มดลูกหย่อนลงมาในช่องคลอดผ่านทางผนังของปากมดลูก
โรคนี้มักเป็นในหญิงวัยหมดประจำเดือนไปจนถึงวัยชรา โดยเฉพาะคนสูงวัยที่ผ่านการคลอดบุตรมาบ่อยครั้ง จนทำให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นต่างๆ หย่อนยานลง หรือผ่านการคลอดบุตรโดยหมอตำแยแล้วช่องคลอดเกิดฉีกขาด และไม่ได้รับการเย็บรักษา หรือเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์มาก
นอกจากนี้ยังพบในคนที่ไอเรื้อรัง ซึ่งทำให้ความดันในช่องท้องสูง กะบังลมจึงหย่อนลงมา คนที่ท้องผูกก็ต้องออกแรงเบ่งมากทำให้กะบังลมหย่อนเช่นกัน และในคนที่ยกของหนักเป็นประจำ เพราะมดลูกเปรียบเสมือนจุกที่อุดอยู่ด้านในของช่องคลอด เวลายกของหนักมดลูกก็จะถูกเบ่งดันเลื่อนลงไปในช่องคลอด
ความรุนแรงของโรคกะบังลมหย่อน
ขั้นที่ 1 มดลูกก็จะเลื่อนลงต่ำกว่าตำแหน่งปกติ แต่ยังไม่ถึงปากช่องคลอด
ขั้นที่ 2 ปากมดลูกเลื่อนลงมาต่ำมากขึ้น จนถึงระดับปากช่องคลอด
ขั้นที่ 3 มดลูกต่ำจนปากมดลูกโผล่ออกมานอกช่องคลอด
ขั้นที่ 4 มดลูกหลุดออกมาข้างนอกช่องคลอด
การรักษา หากเป็นไม่มากจะรักษาแบบอนุรักษ์ คือ ให้ขมิบช่องคลอด (เท่ากับขมิบอุ้งเชิงกราน) วันละหลายสิบครั้งในเบื้องต้น และต่อมาให้ขมิบวันละ 100 ครั้ง หากเป็นมากอาจต้องผ่าตัดซึ่งมีความเสี่ยงสูงเพราะร่างกายที่เสื่อมไปตามวัยชรา
วิธีการขมิบ คือ เกร็งกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน 5-10 วินาที จากนั้นผ่อนคลายกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน 3 วินาที การบริหารแบบนี้ทำได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ เช่น ขณะยืน ขณะทำงาน ข้อสำคัญขณะที่เกร็งกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานต้องไม่เกร็งกล้ามเนื้อขาหรือกล้ามเนื้อท้อง เพราะจะเป็นการเพิ่มความดันต่อกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน