พิจารณาในแง่ประโยชน์ทางโภชนาการแล้ว ไขมันเทียมก็จัดว่ามีไขมันต่ำครับ ไขมันเทียมหรือไขมันสังเคราะห์ที่เรียกว่าโอเลสตร้า (หรืออีกชื่อหนึ่งว่าโอลีนและซูโครสพอลิเอสเตอร์) ทำมาจากน้ำตาลซูโครสและกรดไขมัน ออกแบบมาเพื่อให้มันไม่ถูกย่อยสลายด้วยเอนไซม์ในร่างกายเราและไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ฟังดูดีในทางทฤษฎี แต่ไขมันเทียมซึ่งใช้กันทั่วไปในขนมขบเคี้ยว เช่น มันฝรั่งทอดกรอบ ขนมอบไส้ชีส มีผลข้างเคียงที่ไม่สู้จะดีนัก นอกจากที่ทราบกันในวงกว้างเรื่องปรากฎการณ์ "รอยคราบสีน้ำตาล" (หมายถึงผู้ที่รับประทานหลายคนประสบกับปัญหาอุจจาระเหลวและกลั้นอุจจาระไม่อยู่) มันยังทำให้ร่างกายขาดวิตามินที่ละลายในไขมัน เช่น เอ ดี อี และเค รวมไปถึงแคโรทีนอยด์อีกด้วย ในปัจจุบันโอเลสตร้าได้เพิ่มประสิทธิภาพด้วยการเติมวิตามินเหล่านี้ลงไป แต่เพียงในปริมาณน้อยที่สุดเท่าที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกากำหนดเอาไว้เพื่อป้องกันการขาดวิตามินเท่านั้น ไม่ใช่ปริมาณที่จะเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ (การศึกษาในระยะแรกของโอเลสตร้าพบว่า การรับประทานมันฝรั่งทอดกรอบเพียง 6 ชิ้นต่อวันสามารถลดระดับเบต้าแคโรทีนได้ถึงร้อยละ 50!) ต้องยอมรับว่า โอเลสตร้าลดปริมาณรวมของไขมันที่รับประทานจริง แต่มันคือความเสี่ยงทางโภชนาการที่เราต้องยอมแลกกับการลดแคลอรีของมันฝรั่งทอดกรอบจาก 150 เป็น 70 แคลอรี
ซีทริม (Z-Trim) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของไขมันเทียม กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาเป็นผู้พัฒนาขึ้น ทำจากเปลือกข้าวโอ๊ต ซึ่งช่วยลดแคลอรีเพิ่มปริมาณเส้นใยอาหาร และสามารถใช้ในการทำกับข้าวได้ ในขณะที่เขียนอยู่นี้ยังไม่พบว่ามีผลข้างเคียงใดๆ แต่ความปลอดภัยในระยะยาวก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัด ผมขอแนะนำให้คุณลดไขมันด้วยวิธีการแบบเดิมๆ โดยการเลี่ยงอาหารที่มีไขมันก็แล้วกัน
สำหรับไขมันเทียมอื่น เช่น ซิมเพลส (Simpless) ซึ่งเป็นสารแทนไขมันที่ทำจากนมและไข่ขาว มักใช้ในขนมหวานแช่แข็งแบบแคลอรีต่ำ ไม่ทนความร้อน และในขณะที่เขียนอยู่นี้ยังไม่สามารถใช้ในการทำอาหารได้ หากพิจารณาว่าไขมันส่วนใหญ่ที่เรารับประทานมาจากอาหารที่ผ่านการปรุงสุก อัตราส่วนของไขมันที่เราเลี่ยงได้จากการรับประทานไขมันเทียมชนิดนี้ก็จัดว่าน้อยนัก ที่แย่ยิ่งกว่าคือ ไขมันเทียมเหล่านี้อาจหลอกให้คุณเข้าใจผิดว่าคุณกำลังรับประทานอาหารไขมันต่ำซึ่งไม่ทำให้อ้วน และหลงรับประทานอาหารที่ปกติคุณจะไม่แตะ มันจึงไม่ช่วยให้คุณเปลี่ยนแปลงรูปแบบการรับประทานไขมันในทางที่ดีขึ้นเลย!